BEM ฟันกำไรสัญญาสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” แสนล้าน

17 ก.ค. 2567 | 06:26 น.
4.3 k

เปิดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม 34 ปี BEM ฟันกำไร 1.1 แสนล้านบาท กวาดรายได้ 316,719 ล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนรัฐแค่ 1 หมื่นล้าน ด้าน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จี้ คมนาคม-รฟม. คุมต้นทุน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท รวมก่อสร้างอายุสัมปทาน 34 ปี โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล

ขณะที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตรวจสอบพบว่า สัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดที่เสนอให้ครม.พิจารณา ยังไม่ได้ปรับแก้ไขให้ตรงกับผลการเจรจา เช่น อัตราค่าโดยสาร ยังคงระบุอัตราค่าโดยสารเดิมที่ 20-62 บาท ทั้ง ๆ ที่ได้มีการเจรจาปรับลดลงมาเหลือ 17-22 บาท

สลค. จึงเสนอให้ รฟม. แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ให้สอดคล้องกับผลการเจรจา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ และป้องกันข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเร่งรัดลงนามสัญญากับ BEM ภายในวันที่ 18 ก.ค.นี้ หลังจากนั้นเอกชนจะสามารถเข้าดำเนินการในพื้นที่โครงการได้ทันที

“ยืนยันว่าในการประชุมครม.ครั้งนี้ไม่มีการคัดค้าน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยและสนับสนุนให้โครงการเดินหน้าต่อได้ ส่วนการเปิดให้บริการโครงการฯเร็วกว่าปี 2571 นั้น จะต้องเจรจาหารือร่วมกับ BEM ก่อนว่าเป็นอย่างไร โดยยืนยันว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะเป็นหนึ่งในโครงการที่เข้าร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งจะใช้เงินอุดหนุนชดเชยจากกองทุนระบบตั๋วร่วม” นายสุริยะ กล่าว

BEM กวาดกำไรสัมปทานแสนล้าน

กระทรวงคมนาคมยังรายงานให้ที่ประชุมครม.ทราบว่า BEM ได้เสนอวงเงินสนับสนุนค่างานโยธาขอรับจากรฟม. รวมเงินสนับสนุนค่างานโยธาขอรับจากรฟม.รวม 95,432.04 ล้านบาทประกอบด้วย ค่างานก่อสร้างงานโยธา 91,500 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง 3,932.04 ล้านบาท

ขณะที่ BEM จะมีค่าใช้จ่ายรวม 200,031 ล้านบาท ประกอบด้วย การลงทุนค่าระบบรถไฟฟ้าและการให้บริการเดินรถรวม 190,031 ล้านบาท และจะจ่ายเงินตอบแทนให้แก่รฟม. ในปีที่ 14-34 รวม 10,000 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้จากค่าโดยสารตลอดอายุสัญญาประเมินว่าจะอยู่ที่ 316,719 ล้านบาท

หากคำนวณจากค่าใช้จ่ายรวมของ BEM ตามประมาณการที่ 200,031ล้านบาท และรายได้รวม 316,719 ล้านบาท จะทำให้ผลการดำเนินงานของ BEM รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 116,688 ล้านบาท

10 ปีแรกลดค่าโดยสารเหลือ 17-44 บาท

กระทรวงคมนาคม ยังรายงานให้ครม.รับทราบว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯได้เจรจากับ BEM เพื่อต่อรองเงื่อนไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 65 วันที่ 21 ก.ย. 2565 และวันที่ 23 กันยายน 2565 ใน 5 ประเด็น ได้ผลสรุป ดังนี้

1.การปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้รฟม. ทาง BEM ยืนยันว่าไม่สามารถปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่รฟม.ได้

2. ค่าใช้จ่ายระหว่างการเตรียมทดสอบระบบร่วม และการส่งมอบงานโยธาส่วนตะวันออก ทาง BEM แจ้งว่าหากการทดสอบล่าช้ากว่าแผน (มี.ค. 2569) BEM จ่ายค่าใช้จ่ายแก่ รฟม.ประมาณ 40-50 ล้านบาท/เดือน

3.การปฎิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน ฝ่าย BEM ยินดีปฏิบัติตาม

4. การปรับลดเงินสนับสนุนจาก รฟม. ทาง BEM ไม่สามารถปรับลดได้

5. การปรับลดค่าโดยสารทาง BEM ยินดีลดค่าโดยสารเป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่เปิดให้บริการส่วนตะวันออก โดยจะลดค่าแรกเข้าจากเดิม 17 บาทเหลือ  15 บาท และค่าโดยสารเดิมจาก 20-62 บาท เหลือ 17-44 บาท ซึ่งการลดค่าโดยสารจะช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชนหรือภาระการสนับสนุนของรัฐกว่า 13,000 ล้านบาท

ผลตอบแทนลงทุนเกิน 9.75% BEM จ่ายค่าต๋งเพิ่ม

สำหรับเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ระบุว่า รฟม.จะเป็นผู้รับผิดชอบการค่างานโยธาช่วงตะวันตก โดย BEM ตกลงแบ่งเงินรายได้ให้รฟม.ในระยะที่ 2 ของสัญญา จำนวน 10,000 ล้านบาท เมื่อผู้ร่วมลงทุนมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) จากการดำเนินโครงการฯเกินกว่า 9.75% ผู้ร่วมลงทุนตกลงแบ่งเงินตอบแทนให้ รฟม. (ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนี้

1.หากในปีนั้น ผู้ร่วมลงทุนได้รับผลตอบแทนการลงทุน (Equity IRR) เกินกว่า 9.75% แต่ไม่เกิน11% ผู้ร่วมลงทุนจะแบ่งเงินตอบแทนให้ รฟม. ในปีนั้นในอัตรา 50% ของกระแสเงินสดสุทธิส่วนที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนเกินกว่า 9.75% แต่ไม่เกิน11%

2. หากในปีนั้นผู้ร่วมลงทุนได้รับผลตอบแทนการลงทุน (Equity IRR) เกินกว่า 11% แต่ไม่เกิน 15% ผู้ร่วมลงทุน จะแบ่งเงินตอบแทนให้ รฟม. ในปีนั้นในอัตรา 60% ของกระแสเงินสดสุทธิส่วนที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนเกินกว่า 11% แต่ไม่เกิน 15%

3. หากในปีนั้นผู้ร่วมลงทุนได้รับผลตอบแทนการลงทุน (Equity IRR) เกินกว่า 15% ผู้ร่วมลงทุนจะแบ่งเงินตอบแทนให้รฟม.ในปีนั้นในอัตรา 75% ของกระแสเงินสดสุทธิส่วนที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนเกินกว่า 15%

 

เปิดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท

 

สลค.จี้คมนาคมคุมค่าเวนคืน 1.4 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ยังมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า ปัจจุบันโครงการได้ประสบปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการ เนื่องจากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน หลังจากครม. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ในครั้งนี้แล้ว

เห็นควรให้คณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 กำกับดูแล ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการอย่างเคร่งครัด และรัดกุม

ส่วนแผนการส่งมอบพื้นที่แก่ผู้ร่วมลงทุนนั้น สลค. เห็นว่า กระทรวงคมนาคมควรกำกับการสำรวจอสังหา ริมทรัพย์ การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการส่งมอบพื้นที่ในโครงการฯ ส่วนตะวันตก ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการ รวมทั้งควบคุมให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 14,661 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลังของประเทศในอนาคต

เร่งผลักดันพรบ.ตั๋วร่วมรถไฟฟ้าราคาถูก

นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคม และรฟม. ควรเร่งเสนอพระราชบัญญัติบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมพ.ศ. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบัตรโดยสารร่วม และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในระบบขนส่งสาธารณะ โดยคิดอัตราค่าแรกเข้า 1 ครั้งต่อ 1 เที่ยว สำหรับการเปลี่ยนสายรถไฟฟ้าในทุกกรณีเพื่อช่วยสนับสนุนให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น

พร้อมกันนี้ยังเสนอให้รฟม.พิจารณาบริหารจัดการให้มีจำนวนขบวนรถ/ตู้รถเพียงพอต่อการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน (rush hour) เพราะผลการประมาณการจำนวนผู้โดยสารของโครงการฯ ในปีที่เปิดให้บริการเฉพาะส่วนตะวันออก ประมาณ 1.2 แสนคน-เที่ยว/วัน และจะเพิ่มขึ้นในปีที่เปิดให้บริการทั้งโครงการฯ ประมาณ 4.3 แสนคน-เที่ยว/วัน จากนั้นจะเพิ่มขึ้นปีละ มากกว่า 2 หมื่นคน

แต่จากการพิจารณาข้อมูลเส้นทางของโครงการฯ ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากฝั่งตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพฯ และยังพาดผ่านย่านใจกลางเมืองรวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นอีกหลายสาย แต่โครงการฯ มีจำนวนขบวนรถน้อยกว่า อาจจะไม่เพียงพอต่อการให้บริการ

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคม และรฟม. ควรจัดทำแผนการบริหารการจราจรระหว่างการก่อสร้างงาน โยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก เพื่อลดผลกระทบทางการจราจรและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ ประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ นอกจากนี้ เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ดำเนินการในพื้นที่จำกัดและมีประชาชนอยู่บริเวณโดยรอบโครงการ โดยให้กระทวงคมนาคม และรฟม.กำกับดูแลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด

กังขาสัญญาสัมปทานไม่แก้ค่าโดยสารใหม่

สลค. ยังระบุถึงเจรจาต่อรองเพิ่มเติมกับ BEM ในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของรัฐ เช่น BEM ตกลงรับภาระค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ สำหรับการทดสอบระบบรวมและการส่งมอบงานให้กับผู้ร่วมลงทุนงานโยธาส่วนตะวันออก ที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่การทดสอบระบบร่วมล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด (ภายหลังเดือนมีนาคม 2569) และตกลงลดอัตราค่าโดยสารเป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่เปิดให้บริการโครงการฯ ส่วนตะวันออก

แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ที่เสนอครม.ในครั้งนี้ ยังไม่ได้ปรับแก้ไขให้ตรงกับผลการเจรจา เช่น อัตราค่าโดยสาร ยังคงระบุอัตราค่าโดยสารเดิมก่อนการเจรจา (อัตรา 17-22 บาท) ดังนั้น รฟม. จึงควรพิจารณาปรับแก้ไข สัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ให้สอดคล้องกับผลการเจรจา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ และป้องกันข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป