เจาะฐานะการเงิน 5 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยักษ์ในไทย

21 มิ.ย. 2567 | 17:01 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2567 | 17:15 น.
1.1 k

เช็คฐานะทางการเงิน “ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น” ยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย อัพเดทสถานะบริษัทเป็นอย่างไร มั่นคงแค่ไหน หลังเกิดกระแสข่าวเลิกจ้าง ปิดกิจการ โรงงานอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลสะเทือนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

สถานการณ์การประกอบธุรกิจของบรรดาค่ายรถยนต์ในประเทศไทย ทั้ง ญี่ปุ่น จีน และยุโรป กำลังกลายเป็นที่สนใจในวงกว้าง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาจากวิกฤตโควิด-19 ได้ดีเท่าใดนัก เห็นได้จากข่าวการเลิกกิจการ ปิดโรงงานของค่ายรถยนต์เกิดขึ้นราวดอกเห็ดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้

เริ่มจากเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โรงงานผลิตรถยนต์ซูบารุ เตรียมปิดโรงงานที่ลาดกระบังในช่วงสิ้นปี 2567 นี้ หลังจากแบกภาระการขาดทุนติดต่อกันตั้งแต่ปี 2562 ไม่ไหว พร้อมประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดประมาณ 200 คน  ถัดมาไม่นาน บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด  ประกาศตัดสินใจยุติการผลิตที่โรงงานประเทศไทย ภายในช่วงสิ้นปี 2568

ล่าสุดยังมีกระแสข่าวอีกว่า โรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่ง นิคมแหลมฉบัง ประกาศเตรียมปลดพนักงานพนักงานซับคอนแทรกทั้งหมด ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้ เป็นพนักงานที่ได้รับการจ้างงานแบบสัญญาจ้าง-ลูกจ้างชั่วคราว ไม่ใช่พนักงานประจำที่ได้รับการบรรจุ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นมานี้ ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่มีการจ้างงานจำนวนไม่น้อย

ฐานเศรษฐกิจ ได้ตรวจสอบข้อมูลการดำเนินธุรกิจของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ในประเทศไทย โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานการผลิตในประเทศไทยมานานหลายปี รวม 5 บริษัท เพื่อให้เห็นถึงฐานะการเงินในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

1.บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2505 ทุนจดทะเบียน 7,520 ล้านบาท 

งบการเงิน 3 ปีย้อนหลัง (2564-2566) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2565 และ 2566 รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่กำไรลดลงเล็กน้อยในปี 2566 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจาก 3.97% ในปี 2564 เป็น 5.47% ในปี 2566 ดังนี้

  • ปี 2564 รายได้รวม 32,771.425 ล้านบาท ลดลง 9.63% รายจ่ายรวม 317,983.891 ล้านบาท ลดลง 9.88% กำไรสุทธิ 1,300.209 ล้านบาท ลดลง 9.49% 
  • ปี 2565 รายได้รวม 404,644.631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.59% รายจ่ายรวม 369,732.287 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.27% กำไรสุทธิ 27,609.508 เพิ่มขึ้น 144.32%
  • ปี 2566 รายได้รวม 492,313.013 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.66% รายจ่ายรวม 457,606.942 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.76% กำไรสุทธิ 26,915.104 ล้านบาท ลดลง 2.51%

2.บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2535 ทุนจดทะเบียน 5,460 ล้านบาท

งบการเงิน 3 ปี ย้อนหลัง บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด มีการฟื้นตัวหลังจากผลกระทบในปี 2564 รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจาก 2.65% ในปี 2564 เป็น 3.72% ในปี 2566 ดังนี้

  • ปี 2564 รายได้รวม 137,720.478 ล้านบาท ลดลง 33.37% รายจ่ายรวม 133,619.701 ล้านบาท ลดลง 30.75% กำไร 3,649.484 ล้านบาท  ลดลง 68.66%
  • ปี 2565 รายได้รวม 151,520.850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.02% รายจ่ายรวม 145,941.975 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.22% กำไร 5,012.709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.35%
  • ปี 2566 รายได้รวม 158,452.503 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.57% รายจ่ายรวม 151,098.653 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.53% กำไร 5,896.695 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.63%

3.บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2509 ทุนจดทะเบียน 8,500 ล้านบาท

งบการเงิน 3 ปี ย้อนหลัง บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 และ 2566 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจาก 5.65% ในปี 2564 เป็น 7.85% ในปี 2566 ดังนี้

  • ปี 2564 รายได้รวม 164,116.382 ล้านบาท ลดลง 3.14% รายจ่ายรวม 152,543.361 ล้านบาท ลดลง 2.59% กำไร 9,281.314 ล้านบาท ลดลง 10.54%
  • ปี 2565 รายได้รวม 222,107.618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.33% รายจ่ายรวม 200,775.394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.61% กำไร 17,182.473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.12%
  • ปี 2566 รายได้รวม 268,963.167 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.09% รายจ่ายรวม 242,624.368 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.84% กำไร 21,123.084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.93%

4.บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2530 ทุนจดทะเบียน 7,000 ล้านบาท 

งบการเงิน 3 ปีย้อนหลัง(2564-2566) บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีผลประกอบการที่ดีในปี 2564 และ 2565 รายได้และกำไรลดลงในปี 2566 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจาก 1.75% ในปี 2564 เป็น 2.86% ในปี 2566 ดังนี้

  • ปี 2564 รายได้รวม 174,501.161 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.94%  รายจ่ายรวม 169,834.262 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.68%  กำไรสุทธิ 3,047.446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142.35%
  • ปี 2565 รายได้รวม 169,773.790 ล้านบาท ลดลง 2.70% รายจ่ายรวม 163,419.762 ล้านบาท ลดลง 3.77% กำไรสุทธิ 5,548.276 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 82.06%
  • ปี 2566 รายได้รวม 162,338.269ล้านบาท ลดลง 4.37% รายจ่ายรวม  157,534.286 ล้านบาท ลดลง 3.60% กำไรสุทธิ 4,639.380 ล้านบาท ลดลง 16.38%

5.บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 ทุนจดทะเบียน 1,944 ล้านบาท

งบการเงิน 3 ปี ย้อนหลัง บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี มีการฟื้นตัวเล็กน้อยในปี 2565 แต่กลับมาขาดทุนมากขึ้นในปี 2566 ดังนี้

  • ปี 2564 รายได้รวม 96,105.955 ล้านบาท ลดลง 11.36% รายจ่ายรวม 102,018.077 ล้านบาท ลดลง 11.63% ขาดทุน 6,102.685 ล้านบาท ลดลง 15.38%
  • ปี 2565 รายได้รวม 104,903.655 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.15% รายจ่ายรวม 104,979.775 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.90% ขาดทุน 267.778 ล้านบาท ลดลง 95.61%
  • ปี 2566 รายได้รวม 91,358.707 ล้านบาท ลดลง 12.91% รายจ่ายรวม 93,220.139 ล้านบาท ลดลง 11.20% ขาดทุน 2,031.886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 658.79%