เปิดกรุ "ทรัพยากรแร่ไทย" มูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้าน พบมากกว่า 30 ล้านล้านตัน

13 มิ.ย. 2567 | 08:21 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2567 | 10:32 น.
1.4 k

เปิดกรุ "ทรัพยากรแร่" ไทยมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล. พบมากกว่า 30 ล้านล้านตัน ระบุมีถึง 40 ชนิด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 60 ล้านไร่ หรือ 19% ของพื้นที่ประเทศ ระบุจะเป็นแหล่งสำรองเพื่อความมั่นคงทางวัตถุดิบของประเทศ

นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรแร่มากถึง 40 ชนิด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 60 ล้านไร่ หรือ 19% ของพื้นที่ประเทศ มีปริมาณทรัพยากรแร่ 30 ล้านล้านตัน คิดเป็นมูลค่าเบื้องต้น 44,410 ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้ แร่ดังกล่าวเหล่านี้จะเป็นแหล่งสำรองเพื่อความมั่นคงทางวัตถุดิบของประเทศ กรุสมบัติ ดังกล่าวนี้นับเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่นำไปสู่การพัฒนาต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 

ไม่ว่าจะเป็นหินอุตสาหกรรมที่นำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หรือแม้กระทั่งแร่ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น ธาตุหายาก ลิเทียม ควอตซ์ เพื่อใช้ในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เช่น กังหันลม แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ยานพาหนะไฟฟ้าและแบตเตอรี่ กักเก็บ แร่เพื่อการเกษตร เช่น แร่โปแตชสำหรับเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตปุ๋ย 
 

โดโลไมต์และเพอร์ไลต์สำหรับปรับสภาพดิน ดินมาร์ลสำหรับแก้ปัญหาดินเค็ม ซึ่งหากมีการผลักดันนำมาผลิตเป็นปุ๋ย เชื่อว่าประเทศไทยจะมีราคาปุ๋ยที่ถูกลงอีกมาก และเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกรในการลดต้นทุนด้วย

ขณะที่แหล่งศักยภาพโปแตชที่น่าสนใจ 10 แหล่ง อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณทรัพยากรแร่โปแตชอย่างน้อย 10,000 ล้านตัน มูลค่าแร่ประมาณ 161 ล้านล้านบาท พบแหล่งศักยภาพธาตุหายาก 30 แหล่ง เนื้อที่ประมาณ 10 ล้านไร่ ใน 9 จังหวัด มีปริมาณทรัพยากรธาตุหายาก รวมประมาณ 7 ล้านตันโลหะ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.40 ล้านล้านบาท 

หากมีการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้เกิดการแปรรูปวัตถุดิบแร่ไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำหรือมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะเป็น การสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าและต่อยอดการผลิตได้ เช่น แร่โมนาไซต์มีราคาเฉลี่ยประมาณ 127,000 บาท/ตัน (ณ ปี พ.ศ.2567) จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 เท่า

หากนำไปสกัดแยกออกเป็นสารประกอบธาตุหายากออกไซด์ และจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 23 เท่า เมื่อนำไปถลุงเป็นโลหะธาตุหายาก โดยประเมินเบื้องต้นจากการเฉลี่ยราคาฐาน ณ ปี พ.ศ.2562 ของโลหะธาตุหายากและสารประกอบธาตุหายากออกไซด์แต่ละชนิด

"การผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากเกลือหิน ซึ่งเป็นแร่รองที่ได้จากการทำเหมืองแร่โปแตช ที่สามารถนำมาต่อยอดโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ ขณะนี้มีเพียงจีนประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถผลิตแบตเตอรี่โซเดียมที่ใช้ในรถยนต์อีวีหรือรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าหากมีการผลักดันของรัฐบาล เชื่อว่าประเทศไทยน่าจะมีเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 5 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสร้างมูลค่าจากทรัพยากรแร่ได้อีกมหาศาล"