"พิมพ์ภัทรา" เร่งยกระดับ "SMEs" เทียบชั้นคู่แข่งต่างชาติ รับกติกาสากล

12 มิ.ย. 2567 | 16:35 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2567 | 17:20 น.

"พิมพ์ภัทรา" เร่งยกระดับ "SMEs" เทียบชั้นคู่แข่งต่างชาติ รับกติกาสากล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เดินหน้าการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอนาคตของประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านซอฟต์พาวเวอร์

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา Smart SME 2024 "Empowering The Next Wave" ซึ่งจัดโดย โพสต์ทูเดย์ ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือและฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว จากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประชาชนทั่วทุกภาคส่วน

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องสนับสนุนให้เอสเอ็มอี (SMEs) ปรับตัวรับเทรนด์โลก ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพยายามเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็งทั้งทางรถ เรือ และอากาศ 

และที่สำคัญมากกว่านั้นคือโครงสร้างของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนเอื้อให้เกิดการลงทุนทั้งที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตและเกิดการสร้างงาน สร้างซัพพลายเชน สร้างโอกาสให้คนในประเทศ 

ทั้งนี้ จากนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) 3.0 มาถึง อีวี3.5 ในปีนี้จะมีหลายบริษัทที่จะเข้ามาผลิตรถอีวี รัฐมุ่งเน้นซัพพลายเชนทั้งประเทศ พยายามถ่ายทอดองค์ความรู้รายวิชา การที่นักลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย ภาครัฐจึงต้องพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ พลังงานสะอาด รวมถึงกลุ่มแรงงาน 
 

โดยสิ่งสำคัญอีกสิ่งคือ SMEs จะสามารถปรับเปลี่ยนพร้อมการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นนอกจากองค์ความรู้แล้วก็ต้องมีเงินทุนด้วย ซึ่งไทยต้องเจอกับกติกาโลก และจะตั้งรับกฎกติกาใหม่อย่างไร 

"พิมพ์ภัทรา" เร่งยกระดับ "SMEs" เทียบชั้นคู่แข่งต่างชาติ รับกติกาสากล

ภาครัฐสนับสนุนการปรับเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีมาช่วยกระบวนการผลิต รวมถึงการสนับสนุนพลังงานสะอาดเพื่อกำหนดเป้าหมายสินค้าได้อย่างชัดเจน แล้วจะปรับกระบวนการผลิตจากคนไปสู่เครื่องจักรอย่างไรถ้าไม่มีทุน ดังนั้น รัฐจะสร้างความรู้คู่กับเงินทุน ซึ่งนายกฯ ได้ให้ความสำคัญ SME ไม่แพ้การดึงต่างชาติมาลงทุน 

อย่างไรก็ตาม นโยบายภาษีคาร์บอนก็ต้องมีเงิน ภาครัฐพยายามออกกฎเกณฑ์ไม่ให้ขัดขวางแต่ต้องทำหน้าที่สนับสนุน วันนี้รัฐบาลมีเงินสนับสนุน แต่ก็ไม่สำคัญเท่าการเข้าถึงแหล่งทุน 

นอกจากนี้ นโยบายต้องต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ SMEs โดดเดี่ยว จับมือให้แน่นเพื่อให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ จากทั่วโลกที่ต้องเผชิญที่ไม่ใช่แค่ไทย ทั้งเรื่องเงินฟื้อ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้ซัพพลายเชนที่อยู่ในประเทศต้องอยู่รอด 

อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรมจะพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตทัดเทียมกับนานาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์กติกาสากล สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การดูแลสังคม ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามนโยบายและบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อการยกระดับ SMEs ไทยให้พร้อมแข่งขันในภาพรวม คือ 
 

  • การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้สถานประกอบการมีผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงนวัตกรรมต่อยอดงานวิจัย โดยเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อดึงผู้ผลิตอันดับต้น ๆ ของโลกเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค รวมทั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค พร้อมผลักดันให้ SME ให้มีความสามารถ ในการเป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชนโลก

"พิมพ์ภัทรา" เร่งยกระดับ "SMEs" เทียบชั้นคู่แข่งต่างชาติ รับกติกาสากล

  • การพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ โดยการปรับรูปแบบอุตสาหกรรมให้เชื่อมโยงกับเทรนด์โลกและภาคเศรษฐกิจอื่น รวมทั้งนำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐาน มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น เกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ทั้งนี้ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมศักยภาพและเชื่อมโยงกับภาคบริการ อาทิ อุตสาหกรรมรีไซเคิล  อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเป็นเครื่องยนต์สร้างการเติบโตและรายได้ให้กับประเทศ
  • การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) โดยการสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของประเทศไทยในเวทีโลก ด้วยการยกระดับความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการให้สามารถสร้างมูลค่าและรายได้ รวมถึงพัฒนา ต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและต้นทุนที่สำคัญของประเทศ

อย่างไรก็ตาม วันที่ 11 มิ.ย. 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND เพื่อสนับสนุน SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ วงเงินสินเชื่อโครงการ 5,000 ล้านบาท สำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มศูนย์กลางการท่องเที่ยว วงเงิน 1,500 ล้านบาท, กลุ่มศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ วงเงิน 1,500 ล้านบาท, และกลุ่มศูนย์กลางอาหาร วงเงิน 2,000 ล้านบาท

  • การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษให้เข้มงวดขึ้น ควบคู่กับการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง แสวงหาร่วมมือกับผู้ประกอบการในการกำกับดูแล การพัฒนาระบบบริหารการจัดการกากอุตสาหกรรม มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้เกิดการลักลอบเผา รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่น ๆ เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคโลกเดือด (Global Boiling)
  • การส่งเสริม SMEs วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่านกลไกของหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน ปรับลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน เช่น กองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐภายใต้โครงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ ภายในปีนี้ จะมีการออกสินเชื่อใหม่ 1,900 ล้านบาท

ในส่วนของ SME D BANK จะมีโครงการสินเชื่อ SME GREEN PRODUCTIVITY วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับผลิตภาพให้กับ SME ของประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SME ยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านโครงการ “ติดปีก SMEs หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อม ค้ำประกันให้” โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันการเงินต่างๆ ได้แก่ 

ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน ธ.พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ ธ.เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกันหรือหลักประกันไม่เพียงพอให้แก่กลุ่ม SME ในการค้ำประกันสินเชื่อที่เข้ามาในระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวนโยบายข้างต้นสามารถเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SME เข้ากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและการประกอบการนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อม ๆ ไปกับการเติบโตสู่ความยั่งยืน เตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวข้ามประเทศกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ความมั่งคั่งในอนาคต