"กนอ.-แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท" ทุ่มงบกว่า 800 ล.ตั้งนิคมฯแห่งที่ 69 ในไทย

10 มิ.ย. 2567 | 15:34 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2567 | 15:34 น.

"กนอ.-แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท" ทุ่มงบกว่า 800 ล.ตั้งนิคมฯแห่งที่ 69 ในไทย หลังได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ กนอ. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 67 คาดเกิดมูลค่าการลงทุนระบบเศรษฐกิจกว่า 18,216 ล้านบาท

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินการร่วมกับ บริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ 

ทั้งนี้ ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 69 ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. โดยโครงการดังกล่าวนี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ กนอ. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยงบลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคประมาณ 854.44 ล้านบาท 
 

ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศกว่า 18,216 ล้านบาท และสร้างงานกว่า 4,554 ตำแหน่ง โดยใช้ระยะเวลาการพัฒนาโครงการประมาณ 3 ปี ภายหลังได้รับการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2569

"กนอ.-แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท" ทุ่มงบกว่า 800 ล.ตั้งนิคมฯแห่งที่ 69 ในไทย

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์นั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 673 ไร่ ในตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้แนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มีพื้นที่สีเขียวและแนวกันชนเชิงนิเวศ 

ด้านจุดเด่นของโครงการคือการส่งเสริมการจ้างงานและกระจายการผลิตไปยังภาคกลางตอนบน และยังสอดคล้องกับนโยบาย BCG ด้วยการใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 
 

นายวีริศ กล่าวอีกว่า โครงการจัดตั้งนิคมแอลพีพี นครสวรรค์ เป็นโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ BIOECONOMY โดยนำความรู้ นวัตกรรม และความได้เปรียบของประเทศไทย ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ผลผลิตทางเกษตร มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นสินค้าที่ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การเกษตร อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง การแพทย์ และพลังงาน เกิดความสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

"ด้วยศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของบริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด เชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ กนอ. พร้อมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมและประเทศต่อไป”