"กนอ." สั่ง 68 นิคมรับมือ "ลานีญา" ผวาซ้ำรอยปี 54 เสียหาย 2.4 แสนล้าน

07 มิ.ย. 2567 | 10:48 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2567 | 11:11 น.

"กนอ." กำชับ 68 นิคมอุตสาหกรรม รับมือลานีญาหวั่นน้ำท่วมฉับพลัน “บางปะอิน-ไฮเทค-นครหลวง” พื้นที่เสี่ยง สร้างเขื่อนป้องกัน 100% ห่วงบางปูอยู่ระหว่างก่อสร้าง ภาพหลอนมหาอุทกภัยปี 54 นิคมฯจมบาดาล 7 แห่ง เสียหาย 2.4 แสนล้าน WHA ยันเตรียมแผนดี ไร้กังวล รอตุนน้ำใช้ช่วงแล้ง

มหาอุทกภัยปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศยังตามหลอน หลังปีนี้หลายฝ่ายออกมาเตือนจากปรากฎเอลนีโญที่ก่อให้เกิดภัยแล้งช่วงต้นปี จะสลับเป็น “ลานีญา” ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเกิดภาวะฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ในปี 2554 นิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจในภาคการผลิตหลักของประเทศในปีดังกล่าวได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 7 แห่ง รวม 838 โรง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2.4 แสนล้านบาท ดังนั้นเพื่อตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (กนอ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผน/แนวทางการรับมือ “ลานีญา” ที่จะทำให้มีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติในแต่ละปี และอาจทำให้เกิดอุทกภัยว่า ได้กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเคร่งครัด และเตรียมการให้พร้อมสำหรับกรณีเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่
 

3 นิคมฯเสี่ยงสร้างเขื่อนรับมือ

สำหรับนิคมฯในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยนิคมฯบางปะอิน, นิคมฯบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมฯนครหลวง ซึ่งเวลานี้ได้มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว 100%

"กนอ." สั่ง 68 นิคมรับมือ "ลานีญา" ผวาซ้ำรอยปี 54 พัง 2.4 แสนล้าน

อย่างไรก็ดี กนอ. ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลการระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหกอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำและปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงถนนจะทำให้การสัญจรเข้า-ออก นิคมฯ มีปัญหา อาจส่งผลกระทบถึงเรื่องการขนส่งแรงงาน วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของโรงงานในนิคมฯ

ขณะเดียวกันนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่น ๆ ก็ได้มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้เกือบครบทุกนิคม ยกเว้น นิคมฯบางปู ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งต้องเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันและมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

มาตรการเฝ้าระวัง ประกอบด้วย 1.สำรวจและติดตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2.ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่ 3.ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100% 4.สูบระบายพร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำสุดเพื่อให้มีพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำฝนมากที่สุด 
 5.ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอกเข้าสนับสนุนหากมีการร้องขอ 6.ให้มีการประเมินสถานการณ์พร้อมสื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ และผู้เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง 7.กำหนดให้ทุกนิคมฯ ซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ 8.กรณีมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เช่น ปริมาณน้ำฝนในนิคมฯมากกว่า 120 มิลลิเมตรให้รีบรายงานผู้ว่าการฯ หรือผู้บริหาร กนอ. ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
 

ไม่ประมาทเตรียมแผนฉุกเฉิน

ด้านมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ได้มีการเตรียมพร้อมสูบระบายน้ำออกนอกพื้นที่นิคมฯ เต็มกำลังทุกสถานีสูบน้ำ ประสานหน่วยท้องถิ่น ชลประทานจังหวัดเพื่อขอการสนับสนุนในด้านอุปกรณ์และการสูบระบายน้ำภายนอกนิคมฯ ประเมินสถานการณ์ สรุปข้อมูลปริมาณน้ำ คาดการณ์ปริมาณน้ำท่วมขังในพื้นที่ และมีการสื่อสารรายงานสถานการรณ์ ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ
 “หากเป็นในสถานการณ์ปกติจะไม่ห่วงกังวล แต่ในลักษณะที่เป็นลานีญาคงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ว่าจะมีสถานการณ์ที่รุนแรงมากกว่าปกติแค่ไหน แต่ทั้งนี้ ได้สั่งการเตรียมพร้อมทุกฝ่าย ส่วนนิคมฯบางปูนั้นคงต้องขอให้ชุมชนภายนอกและหน่วยงานท้องถิ่นร่วมช่วยกันเตรียมพร้อมด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กันมาก และมีการใช้ทางน้ำสาธารณะร่วมกัน”

สำหรับความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรมในการกำกับดูแลของ กนอ. ที่ประสบอุทกภัยในช่วงเดือน กรกฎาคม-ธันวาคม 2554 ได้สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3 แห่ง ประกอบด้วย นิคมฯสหรัตนนคร นิคมฯบ้านหว้า(ไฮเทค) และนิคมฯบางปะอิน โดยมีระดับน้ำท่วมสูงมากกว่า 2 เมตร

ย้อนรอย 3 นิคมฯกระทบหนัก

ผลจากอุทกภัยดังกล่าว ทำให้นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง ซึ่งเป็นนิคมฯร่วมดำเนินการระหว่าง กนอ.กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ต้องหยุดการดำเนินงานอย่างสิ้นเชิงไม่สามารถให้บริการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในนิคมฯได้ ทั้งระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบระบายน้ำฝนและป้องกันน้ำท่วม ระบบถนน และเตาเผาขยะ

นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ ต้องหยุดการประกอบกิจการ ประกอบด้วย นิคมฯสหรัตนนคร (ปัจจุบันคือนิคมฯนครหลวง) พื้นที่ 1,441 ไร่ จำนวนโรงงาน 46 ราย จำนวนคนงาน 12,176 คน มูลค่าเงินลงทุน 10,314.101 ล้านบาท นิคมฯบ้านหว้า พื้นที่ 2,379 ไร่ จำนวนโรงงาน 143 ราย คนงาน 39,634 คน มูลค่าเงินลงทุน 57,034.278 ล้านบาท นิคมฯบางปะอิน พื้นที่ 1,962 ไร่ จำนวนโรงงาน 90 ราย คนงาน 52,707 คน มูลค่าเงินลงทุน 67,202.083 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีสถานการณ์น้ำท่วมได้เริ่มลดระดับลง ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2554 จนกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2554 ภายหลังจากที่ได้มีการระบายน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรม และทำความสะอาดพื้นที่แล้ว ผู้พัฒนานิคมฯทั้ง 3 แห่ง ได้จัดทำแผนการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ตามปกติ

WHA ยันเตรียมแผนดีไม่เคยท่วม

ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA หนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมกล่าวว่า ในครึ่งแรกปีนี้ที่เจอกับเอลนีโญ และครึ่งหลังจะเจอกับลานีญา เปลี่ยนจากน้ำน้อยเป็นน้ำมาก มองว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องเผชิญ ไม่อยากให้มานั่งกังวล ทั้งนี้อยากให้มองเป็นภาพองค์รวมในภาพใหญ่มากกว่าว่า หากมีฝนตกและมีน้ำมากจะทำอย่างไรที่จะเก็บน้ำไว้ใช้

“แม้ไทยจะเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ หลายนิคมฯได้รับผลกระทบ แต่นิคม WHA ไม่เคยน้ำท่วมเลย เพราะยึดหลักสำคัญคือการออกแบบนิคมฯ ไม่ว่าจะมีพื้นที่เป็นพันไร่ หรือหมื่นไร่อย่าไปขวางทางน้ำ และควรมีบ่อดักน้ำ หน่วงน้ำ ไม่ให้ไปท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่งการที่นิคมฯเราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม บ้านเรือน และชุมชน ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม และยังทำให้มีน้ำเพียงพอรองรับกับความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมฯ ไม่เคยมีปัญหา”

ก.อุตฯชี้ทุกรายมีประสบการณ์

ด้านนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 มาแล้ว เชื่อว่าแต่ละรายได้เตรียมแผนรับมือกับลานีญาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ไว้แล้วพอสมควร ซึ่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวลานี้เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจและประชาชน

“หากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากลานีญา และต้องการได้รับความช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ทางกระทรวงฯก็ยินดี และพร้อมช่วยโดยได้กำชับให้ทุกกรมในสังกัดได้บูรณาการการทำงานในการช่วยเหลือ เพราะบางปัญหาไม่สามารถแก้ได้ภายในกรมเดียว”