ผลสำรวจคนไทย 64.3% เมินยื่นภาษี วัยทำงานถึงสูงอายุ ยอดสูงสุด

27 พ.ค. 2567 | 11:37 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2567 | 11:54 น.

สศช. เปิดข้อมูล คนไทยสูงกว่า 64.3% ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กระจายอยู่ในวัยทำงานถึงสูงอายุ กลุ่ม Gen X Gen Y และ Baby Boomer ตกใจบางส่วนไม่รู้เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 โดยนำเสนอบทความเรื่อง มุมมองการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย พบข้อมูลว่า คนไทยสูงกว่า 64.3% ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

โดยในปี 2565 มีสัดส่วนของผู้ที่ยื่นแบบฯ เพียง 35.7% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แบ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นมากถึง 50.5% และไม่เข้าข่ายต้องยื่นภาษี 13.8% เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือเป็นผู้ว่างงาน/อยู่ระหว่างการศึกษาที่ไม่มีเงินได้ 

หากพิจารณากลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ ในปี 2565 และกลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ยื่น พบลักษณะที่แตกต่างกัน คือ กลุ่มที่ยื่นแบบฯ ในปี 2565 อยู่ที่ 60% เป็นกลุ่ม Gen Y และมากกว่าครึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป 

อีกทั้ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ โดยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนมากที่สุด รองลงมาเป็นอาชีพที่อยู่ในองค์กรของภาครัฐ ซึ่งกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 27,827 บาทต่อคนต่อเดือน และกว่า 80.8% มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย

ขณะที่กลุ่มที่เข้าข่ายอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ยื่น กระจายอยู่ในกลุ่ม Gen X Gen Y และ Baby Boomer ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. โดยเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มแรก โดยอยู่ที่ 12,115 บาทต่อคนต่อเดือน อีกทั้งยังมีสถานะการเงินที่ไม่มั่นคง โดย 55.5% มีรายได้เท่ากับรายจ่าย และ 31.3% มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567

คนไทยมีความรู้ภาษีระดับต่ำ

เมื่อพิจารณาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ภาพรวมคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับต่ำ โดยผู้ที่มีความรู้ระดับต่ำและไม่รู้ข้อมูลเลยมีสัดส่วนรวมกันมากถึง 57.9% ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen X และ Baby Boomer และเกือบ 70% เป็นแรงงานนอกระบบ อีกทั้ง ประมาณ 80% ของกลุ่มนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ

โดยข้อมูลที่กลุ่มนี้รับรู้น้อยมาก อาทิ การยื่นแบบฯ รวมของคู่สมรส ภาระทางภาษีเพิ่มเติมหากไม่จ่ายตามกำหนดโทษปรับ หรือจำคุกในกรณีที่ไม่ยื่นแบบฯ เพื่อเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ หากพิจารณาระดับความรู้ตามประสบการณ์ในการยื่นแบบฯ พบว่า แม้จะเป็นกลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ ในปี 2565 แต่กลับมีความรู้เกี่ยวกับการยื่นแบบฯ ในระดับปานกลางเท่านั้น 

ขณะที่กลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ได้ยื่น มากถึง 74.9% มีความรู้ในระดับต่ำหรือไม่รู้เลย ซึ่งในกลุ่มนี้ มีข้อมูลที่ไม่ทราบเพิ่มเติมจากกลุ่มก่อนหน้า อาทิ กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นออนไลน์แม้เลยเวลากำหนด หากไม่ยื่นในเวลาที่กำหนดมีค่าปรับ 2,000 บาท

บางส่วนไม่รู้เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายประเด็น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ คนไทยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย โดยผลสำรวจ พบว่า กว่า 16.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ทราบว่า การยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย 

ขณะเดียวกัน 65.6% ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี ซึ่งสัดส่วนผู้ไม่ทราบจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยหรือมีสถานะทางการเงินที่ไม่ดี อีกทั้ง กว่า 53.6% ไม่ทราบว่า หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงประเภทเงินได้ที่ต้องยื่นภาษี พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ารายได้ประเภทใดบ้างที่ต้องนำมายื่น โดยรายได้จากเงินเดือน/ค่าตอบแทนจากงานประจำ เป็นรายได้ประเภทเดียวที่คนไทยเกินครึ่งหนึ่งรับรู้ว่าต้องนำมาใช้ในการยื่นแบบฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 63.2% และรองลงมา คือ รายได้จากการรับจ้าง/จากการประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ที่ 39.1%

ทัศนคติความเป็นธรรมการจัดเก็บภาษี

ด้านทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากประเด็นปัญหา อาทิ ระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษีเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไปไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเต็มใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีของคนไทย พบว่า ประมาณ 70% ของกลุ่มตัวอย่าง เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษี หากมีรายได้ถึงเกณฑ์หรือหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น/มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบฯ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ 

สำหรับปัจจัยที่จูงใจให้คนไทยยื่นแบบฯ พบว่า กลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ อยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องการให้ไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง และไม่ขอเอกสาร/หลักฐานเพิ่มเติม 

ส่วนปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษีคือ การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการของรัฐมากกว่า ซึ่งปัจจัยที่มีผลในการจูงใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่ามีหลายประเด็นที่สามารถปรับปรุงหรือพัฒนาเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมการยื่นแบบฯ และชำระภาษีของผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ จะพบว่า หลายประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ตั้งแต่ในวัยเด็ก รวมถึงมีการสร้างแรงจูงใจให้คนอยากยื่นแบบฯ และเสียภาษีผ่านการให้รางวัลกับผู้เสียภาษีที่ดี 

รวมทั้งมีการให้สิทธิประโยชน์ที่นอกเหนือจากสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทางภาษีต่าง ๆ อีกทั้ง ยังมีการอภัยโทษทางภาษีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลุดออกจากระบบภาษีได้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการคลังของรัฐ

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567

 

สศช. ระบุว่า ในการส่งเสริมและพัฒนาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องดำเนินการ ดังนี้ 

1. การสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประชาชน ตั้งแต่วัยเด็ก และมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบข้อมูลที่เข้าใจง่าย 

2. การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการนำภาษีไปใช้ของรัฐ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสียภาษีโดยการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินนโยบายและการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การดำเนินนโยบายที่เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และการสื่อสารสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ

3. การมีแนวทางส่งเสริมการเข้าระบบภาษีโดยสมัครใจ อาจพิจารณาการยกเว้นหรือลดบทลงโทษต่าง ๆ รวมถึงมีมาตรการจูงใจอื่น 

4. การตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอาจมีบทลงโทษ สำหรับผู้ที่จงใจทำผิดเป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว 

5. การอำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นแบบฯ ซึ่งหากพัฒนาระบบให้สามารถประมวลผลข้อมูลรายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีบุคลากรคอยสนับสนุน และช่วยเหลือในแต่ละกระบวนการ

ทั้งนี้ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงดำเนินการ ส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความพร้อมและความรู้สึกสบายใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและจะเป็นผลดีในระยะยาวสำหรับการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในอนาคต จากการมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น