สศช.เตือนหนี้ครัวเรือน โลกร้อน การเงินผันผวน เสี่ยงทุบเศรษฐกิจทั้งปี 2567

20 พ.ค. 2567 | 13:55 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2567 | 14:11 น.

สศช. ประเมินปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 จับตาภาระหนี้สินครัวเรือน-ภาคธุรกิจ ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบบเศรษฐกิจการเงินโลกผันผวน พร้อมแนะทางออกประคองเศรษฐกิจ

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2-3% แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนและการกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก 

แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงและข้อจำกัดที่สำคัญ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีฐาน ได้แก่ ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงความเสี่ยงจากแนวโน้มการเกิดอุทกภัยต่อผลผลิตภาคการเกษตร และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและมีความเสี่ยงที่จะผันผวนมากขึ้น

 

สศช.เตือนหนี้ครัวเรือน โลกร้อน การเงินผันผวน เสี่ยงทุบเศรษฐกิจทั้งปี 2567

 

ทั้งนี้ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีเรื่องที่ต้องติดตามอย่างน้อย 3 เรื่อง ดังนี้

1.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงและการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย

โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (SMLs) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ยังคงอยู่ในระดับสูง 7.2% และ 11.7% และสูงกว่า 4.6% และ 3.5% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 

ทั้งนี้ ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มธุรกิจ SMEs ขณะเดียวกัน สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 อยู่ที่ 91.3% ใกล้เคียงกับ 91.4% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับ 84.1% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562

ภายใต้คุณภาพสินเชื่อที่ลดลงส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อกับธุรกิจมากขึ้น อาทิ การเพิ่มเงื่อนไขประกอบสัญญาเงินกู้ การเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงสภาพคล่องของกลุ่มธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

2. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลกระทบให้ผลผลิตภาคเกษตรลดลง โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 0.5 องศาเซลเซียส ขณะที่ปริมาณฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 68.9 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 41.728% 

ส่วนปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนทั่วประเทศ สิ้นไตรมาสที่หนึ่งของปี 2567 อยู่ในระดับต่ำที่ 23,872 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลง 9.1% และ 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 และ 2565 ตามลำดับ จนส่งผลกระทบให้ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา 

ส่วนในช่วงที่เหลือของปีภายใต้การคาดการณ์แนวโน้มการเข้าสู่ภาวะลานีญานับตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะฝนตกหนัก จนนำไปสู่ปัญหาอุทกภัยอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

 

สศช.เตือนหนี้ครัวเรือน โลกร้อน การเงินผันผวน เสี่ยงทุบเศรษฐกิจทั้งปี 2567

 

3.ความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก 

อาจทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐานโดยมีเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย 

1. สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ประกอบกับความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่หากยืดเยื้อรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม รวมทั้งความผันผวนในตลาดการเงินโลกและระดับราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 

2. ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน จนส่งผลให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าที่คาดการณ์โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง (Sticky Core Inflation) เนื่องจากสถานการณ์ตลาดแรงงานตึงตัวส่งผลให้ระดับราคาหมวดบริการและอัตราค่าจ้างขยายตัวในเกณฑ์สูง 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาต้นทุนการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ส่งผลต่อการขนส่งผ่านทะเลแดง รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการขนส่งผ่านคลองปานามาที่จะเป็นปัจจัยเร่งให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกลางสำคัญมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง (Higher-for-Longer) 

โดยจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงจะเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและแรงกดดันให้จ าเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงจนอาจส่งผลต่อการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ 

3. การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน อันเนื่องมาจากการลดลงของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากปัญหาหนี้สิน ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางภาวะเงินฝืด และภาระหนี้สินของภาครัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ในระดับสูง 

4. ทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายประเทศสำคัญที่ยังคงไม่แน่นอน และขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

 

สศช.เตือนหนี้ครัวเรือน โลกร้อน การเงินผันผวน เสี่ยงทุบเศรษฐกิจทั้งปี 2567

 

อย่างไรก็ตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 จะขยายตัวได้ 2-3% หรือเฉลี่ย 2.5% ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ อย่างน้อย 5 เรื่อง ดังนี้

1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยการเร่งรัดงบประมาณประจำปี 2567 ให้สามารถเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 90% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด แบ่งเป็น อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำไม่ต่ำกว่า 97% และงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่ต่ำกว่า 60% รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี และงบรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่า 90% และ 75% ตามลำดับ และเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ไม่ให้เกิดความล่าช้า

2. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจ 

การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อการสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงสินเชื่อดิจิทัลแฟ็กเตอริง เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประกอบกับการส่งเสริมให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์จากระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Secured) 

ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างเอกลักษณ์ของสินค้า ให้ตรงตามความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันควรดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาลูกหนี้เรื้อรังที่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้

3. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 

สำหรับการดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ คือ

  • การติดตามและวางแผนแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างใกล้ชิด 
  • การเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันบรรเทา และแก้ไขปัญหาอุทกภัย 
  • การฟื้นฟูภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว 
  • การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพอากาศและโรคพืช รวมทั้งให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 
  • การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
  • การเฝ้าระวังติดตาม การปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย

4. การขับเคลื่อนการส่งออก

สำหรับการขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการเร่งรัดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยมุ่งเน้นเรื่องต่าง ๆ คือ 

1. การลดต้นทุนและแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก 

2. ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า 

3. การติดตามเฝ้าระวังการทุ่มตลาดและการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย 

4. การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้นที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น 

5. การสร้างความเชื่อมั่นและเตรียมความพร้อมของระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ควบคู่ไปกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและรับบัตรส่งเสริมมีการลงทุนจริงโดยเร็ว 

นอกจากนี้ ยังควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจสำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมาย รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมาย 

6. การดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว ผ่านการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long-term resident visa (LTR) และการส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ 

นอกจากนี้ ยังควรเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรักษามาตรฐาน ความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว 

รวมถึงการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบ และปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน

5. การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

จากการยกระดับความรุนแรงของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก