พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับประชาชน ลุ้น คลัง ไฟเขียว "กองทุนอากาศสะอาด"

27 พ.ค. 2567 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2567 | 18:47 น.
642

"พ.ร.บ.อากาศสะอาด" ฉบับประชาชน ลุ้นปลดล็อก กฎหมายวินัยการเงินการคลัง - ถก กระทรวงการคลัง ตั้ง "กองทุนอากาศสะอาด" ได้

รายงานข่าวจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการอากาศสะอาด พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาวาระแรกและอยู่ในชั้นการพิจารณาของ กมธ.ฯ จำนวน 7 ฉบับ โดยปัจจุบันพิจารณามาถึงหมวด 6 ว่าด้วยเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด 

ในประเด็นการตั้ง “กองทุนอากาศสะอาด” ในร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. .... ที่เสนอโดยน.ส.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 22,251 คน นั้น กมธ.ฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาดในมาตรา 70- มาตรา 107 โดยมี “ข้อจำกัด” จากกฎหมายที่มีอยู่ อาทิ ห้ามตั้งกองทุนซ้ำซ้อนกับที่มีอยู่แล้ว อย่างกองทุนสิ่งแวดล้อม ดังนี้

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 63 ที่กำหนดว่า การจัดตั้งทุนหมุนเวียนให้กระทำได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเท่านั้น โดยต้องมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งที่ชัดเจนและเป็นกรณีที่เป็นกิจกรรมที่หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม และเหมาะสมที่จะอนุญาตให้นำรายรับจากการดำเนินการกิจกรรมนั้นสมทบไว้ใช้จ่ายได้ “รวมถึงไม่ซ้ำซ้อนกับทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งไว้แล้ว”

มาตรา 25 กำหนดว่า การเสนอกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ (กองทุนอากาศสะอาศ ตามร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับประชาชน) ไม่ต้องนำเงินรายได้หรือเงินอื่นใดส่งคลัง "ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง" ก่อนเสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

มาตรา 26 การเสนอกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้จัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้นหรือเพื่อการหนึ่งการใดเป็นการเฉพาะ จะกระทำไม่ได้ เว้นแต่กรณีการจัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.การบริการทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 มาตรา 14 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนที่ “ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล” เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อพิจารณาความเห็นต่อครม. แต่ถ้ากองทุนฯ เป็น “นิติบุคคล” จะต้องกลับไปพิจารณาพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 

นายครรชิต คุณากร ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมด้านภาษี กองนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้อธิบายถึงพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มาตรา 26 ว่า เป็นการเก็บภาษีเพิ่ม (Surcharge) จากภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ ภาษีสรรพสามิต ซึ่งกำหนดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเก็บภาษีเพิ่ม จากภาษีสรรพสามิตที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เว้นแต่กรณีการจัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดในที่ประชุมกมธ.เห็นตรงกันว่า หากกระทรวงการคลังเห็นว่า กองทุนอากาศสะอาดไม่เป็นการตั้งกองทุนที่ซ้ำซ้อนกับกองทุนที่มีอยู่เดิมก็สามารถตั้งได้ ทั้งนี้ กมธ.จะเข้าไปหารือกับกระทรวงการคลังในเรื่องดังกล่าวต่อไปในเร็ว ๆ นี้