ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 438 เสียง ให้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ พร้อมยังรับหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาด ที่ภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ และพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ
ก่อนหน้านี้ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 จึงต้องมีการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ ทั้งในระดับชาติ และในระดับพื้นที่ พร้อมกำหนดให้มีการพัฒนา และบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ กำหนดให้มีระบบการวางแผนการดำเนินงาน และกำกับดูแล
เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดสาเหตุการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน และกลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบการเตือนภัย และระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากภาวะมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน
ขณะที่ นางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ตัวแทนภาคประชาชนผู้เสนอกฎหมาย ชี้แจงว่า จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันพิษ และมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้คนที่มีโรคระบบทางหายใจเรื้อรัง เกิดอาการกำเริบ และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรง เป็นภัยเงียบต่อสุขอนามัยของประชาชน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งสาเหตุสำคัญต่อการป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันพิษในประเทศไทย คือ ความไม่เพียงพอของกฎหมายที่มีในปัจจุบัน ขาดการบูรณาการ ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและทันท่วงที รวมทั้งยังจำเป็นจะต้องมีการอำนวยการ และกำกับดูแลการจัดการอากาศร่วมอย่างบูรณาการ ระหว่างหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนเครื่องมือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการ ที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการก่อมลพิษ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และวิธีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นจะต้องมีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อบังคับใช้
ด้าน นายอลงกต มณีกาศ สส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ชี้แจงร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทยว่า เนื่องจากฝุ่นควัน ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบ ต่อสิ่งมีชีวิตติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน และแนวโน้มของสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ และยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศ สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการของภาครัฐ ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นมีสาเหตุมาจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมไปถึงฝุ่นควันที่ลอยมาจากแหล่งกำเนิดในต่างประเทศ จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพของประชาชน
เช่นเดียวกับ นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายจากพรรคพลังประชารัฐว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพประชาชน ทั้งจากการเผาในที่โล่ง รถยนต์ หรือภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ซึ่งเกี่ยวโยงทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ พรรคพลังประชารัฐ จึงได้เสนอร่างกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์อย่างเท่าเทียม แม้หลายรัฐบาลพยายามแก้ไข แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องเสนอร่างกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือลดมลภาวะให้กับประเทศ
รวมถึง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายจากพรรคเพื่อไทยว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่นควัน ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศ ทั้งจากในประเทศ และหมอกควันข้ามแดน ส่งผลกระทบต่อประชาชน และเศรษฐกิจ โดยมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประชาชนต่างได้รับผลกระทบและตกอยู่ในภาวะอันตราย และยังต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาล และยังส่งผลเสียหายต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องพัฒนาและปฏิรูปการบริหารจัดการความสะอาดสะอาดให้มีประสิทธิภาพ จัดการมลพิษอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การมีอากาศสะอาด
โดยจะมีระบบการบริหารราชการเชิงพื้นที่ การพัฒนามาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด การประเมินคุณภาพ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น พร้อมยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะสามารถจัดการปัญหามลพิษข้ามพรมแดนได้ ผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการทางภาษี และการนำเข้า เพื่อลงโทษผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษ เหมือนประเทศสิงคโปร์
นอกจากนั้น นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีกฎหมายใช้บังคับ เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพราะประชาชนเฝ้ารอมานานเพื่อมีอากาศสะอาดหายใจ โดยมั่นใจว่า ร่างกฎหมายฉบับเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิที่จะหายใจสะอาด สามารถรับทราบข้อมูลคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ และแก้ปัญหาจากต้นตอแหล่งกำเนิด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ด้าน นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบภายในประเทศมานานกว่า 10 ปี โดยไม่มีการแก้ปัญหาในเชิงกฎหมายที่ชัดเจนและครอบคลุม ให้การแก้ปัญหาโดยบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้ รวมถึงยังมีแหล่งกำเนิดจากหลายกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ รวมไปถึงการก่อมลพิษข้ามพรมแดน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน เพื่อให้ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ และมีมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อปรับผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อให้คนไทยได้รับอากาศสะอาดด้วยความเท่าเทียมกัน จึงมีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้
ขณะที่ การอภิปรายของ สส.ส่วนใหญ่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ทุกร่าง ทุกฉบับ ที่ถูกเสนอมาโดยคณะรัฐมนตรี ภาคประชาชน และพรรคการเมือง เพื่อคืนอากาศสะอาด และคืนสิทธิการหายใจในอากาศสะอาด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน รวมถึงแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวน 39 คน เพื่อพิจารณาปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 ตามขั้นตอน โดยที่ประชุมฯ มีมติให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ
สำหรับเนื้อหาภายในร่างพระราชบัญญัติการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กำหนดให้มีการกำหนดนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการจัดระบบสิ่งแวดล้อม เพื่ออากาศสะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพทุกคน โดยให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเหตุพื้นฐาน ที่มาจากแหล่งกำเนิด รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการป้องกัน และแก้ไขภาวะมลพิษทางอากาศ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ และนานาชาติ ซึ่งหน่วยงานรัฐ จะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหามลพิษ
ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จัดทำแผนแม่บทเพื่ออากาศสะอาดและปลอดภัย พิจารณากำหนดเครื่องมือ และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อบริหารจัดการอากาศสะอาด ทั้งมาตรการการเงิน การคลัง ภาษี การส่งเสริมการลงทุน และนโยบายอื่น ๆ เพื่ออากาศสะอาด เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังกำหนดผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ จะมีโทษปรับ 50,000 บาท ผู้ที่เผาในที่โล่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ผู้ที่ปล่อยทิ้งอากาศเสียโดยไม่มีการบำบัดให้มีคุณภาพตามมาตรฐานควบคุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ครองครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกประเทศ ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง