นักวิชาการ ชี้ เทรดวอร์ จีน-สหรัฐฯ ไม่รุนแรง ส่วนไทยไม่ได้เปรียบ

18 พ.ค. 2567 | 07:56 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2567 | 08:01 น.

นักวิชาการ ชี้ เทรดวอร์ จีน-สหรัฐฯ ไม่รุนแรง นักลงทุนหลายชาติ ส่งสัญญาณเตรียมย้ายฐานการผลิตแน่ แต่จุดหมายปลายทางอาจไม่ใช่ไทย หลังเศรษฐกิจโตต่ำ แถมค่าแรงกำลังจะขึ้น

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รอบนี้มีเหตุผลชัดเจน ว่า ต้องการป้องกันสินค้าราคาถูกของจีนทะลักเข้าสู่ประเทศ หลังโดนจีนทุ่มตลาดสินค้าราคาถูกทะลักเข้าประเทศมาซักระยะ โดยทางจีนเองตอบโต้ได้ไม่มาก เพราะได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯมาโดยตลอด

ทั้งนี้มองว่า สงครามการค้า รอบนี้ยังไม่รุนแรง แต่สถานการณ์อาจบานปลายได้ เนื่องจากสหรัฐฯ ท่าทีคว่ำบาตรทั้ง 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.คว่ำบาตรโดยตรง (Primary Sanction) หมายถึงคว่ำบาตรกับประเทศคู่กรณีโดยตรง และ 2.คว่ำบาตรทางอ้อม (Secondary Sanction) กับประเทศที่ให้การสนับสนุนจีน (คู่กรณี) ไม่ว่าจะสนับสนุนวัตถุดิบการผลิต ไปจนถึงเป็นทางผ่านสินค้าเพื่อส่งออก

นักวิชาการ ชี้ เทรดวอร์ จีน-สหรัฐฯ ไม่รุนแรง ส่วนไทยไม่ได้เปรียบ

ขณะที่หลายประเทศต่างจับจ้องผลพวงของสงครามการค้าครั้ง หวังเข้าไปช้อนนักลงทุนอาจย้ายฐานการผลิตออกจากทั้ง 2 ประเทศ​ ไปจนถึงเตรียมตัวเข้าไปสนับสนุนด้านซัพพลายเชน โดยไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เดินหน้าโรดโชว์ไปทั่วโลก แต่ก็เชื่อว่าสหรัฐ น่าจะยังไม่กีดกันมากกว่านี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้

 

ไทยไม่เซ็กซี่อีกต่อไป

ขณะที่ไทย โดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กำลังเดินหน้าโรดโชว์ แต่ชาติอื่น ๆ ก็ทำเช่นกัน โดยเฉพาะยุโรปก็มีหลายชาติที่ต้องการเป็นกำลังหลักการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้น สิ่งสำคัญของไทยคือต้องตอบให้ได้ว่า เรามีข้อดีอย่างไรที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้า

สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ไม่ถึง 2% ตลาดทุนไทยมีความซบเซาจากเงินทุนไหลออก และที่สำคัญคือ กำลังจะมีการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งนั่นคือภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบก แถมยังแลกมาซึ่งฝีมือแรงงานที่ไม่ได้สูงตามค่าตัว ดังนั้น หากจะหวังให้ต่างชาติหันมาลงทุนในไทยทดแทน ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป