เทรดวอร์-เศรษฐกิจฟื้น จีนแห่ลงทุนไทย “รถ EV-ชิ้นส่วน” มาแรง

20 ก.พ. 2566 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2566 | 18:02 น.

ปี 2565 ข้อมูลจาก BOI ระบุ มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับปี 64 มีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 6.64 แสนล้านบาท ถือเป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด

อย่างไรก็ดีมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปีที่ผ่านมา จีนเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทยแง่มูลค่า โดย แซงหน้าญี่ปุ่น ที่ครองแชมป์มาอย่างยาวนาน

“นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการบีโอไอ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในจำนวนโครงการ และมูลค่าการขอรับการส่งเสริมข้างต้น ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 433,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการลงทุนจากจีนมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 77,381 ล้านบาท รองลงมาเป็น ญี่ปุ่น 50,767 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 50,296 ล้านบาท ไต้หวัน 45,215 ล้านบาท และสิงคโปร์ 44,286 ล้านบาท

เหตุปัจจัยจีนลงทุนแซงญี่ปุ่น

ทั้งนี้จีนและญี่ปุ่นต่างเป็นนักลงทุนรายสำคัญของไทย โดยการลงทุนจากทั้งสองประเทศส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ แต่ในส่วนของจีนจะมีการลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ กระเป๋าเดินทาง และเฟอร์นิเจอร์จำนวนหลายโครงการด้วย และที่สำคัญจีนยังมีโครงการลงทุนผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนสูงถึง 20,471 ล้านบาท หากไม่นับรวมกลุ่มนี้ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่แล้ว การลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นจะมีขนาดใกล้เคียงกัน

 

เทรดวอร์-เศรษฐกิจฟื้น จีนแห่ลงทุนไทย “รถ EV-ชิ้นส่วน” มาแรง

“เมื่อพิจารณาคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ฉบับเดิมในช่วงปี 2558-2565 จะพบว่าญี่ปุ่นมีการลงทุนสูงกว่าจีน ทั้งในแง่จำนวนโครงการและเงินลงทุน อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าการลงทุนของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต สาเหตุจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมา การกลับมาเปิดประเทศ และการกระจายฐานการผลิตของจีนออกนอกประเทศเพื่อรับมือกับสงครามการค้า รวมทั้งศักยภาพของไทยในการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรืออิเล็กทรอนิกส์ ไม่เพียงแต่เฉพาะผู้ประกอบรถยนต์ EV แต่ยังรวมถึงกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งน่าจะเริ่มขยับตัวตามบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีนจะทยอยเข้ามาลงทุนในไทยด้วยในอนาคต”

นายนฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

เล็งขอส่งเสริมปีนี้ 5-6 แสนล้าน

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาการขอรับการส่งเสริมการลงทุนย้อนหลัง ช่วงปี 2558-2565 จะพบว่าค่าเฉลี่ยการขอรับการส่งเสริมจะอยู่ที่ประมาณปีละ 1,500 โครงการ มูลค่าการลงทุนประมาณ 490,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับแนวโน้มการลงทุนปี 2566 ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และมีความไม่แน่นอนสูง คาดประเทศไทยจะยังสามารถรักษาระดับการลงทุนไม่ตํ่ากว่า 5-6 แสนล้านบาท

มีปัจจัยสนับสนุนจากประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง มีความเป็นกลางและไม่อยู่ในความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนของโลก และยังมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับวิกฤติหรือความเสี่ยงต่าง ๆ จะเห็นว่าช่วงโควิดรุนแรงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ได้ดี ไม่สร้างปัญหาให้กับภาคธุรกิจโรงงานต่าง ๆ ยังสามารถทำการผลิตและนำเข้า-ส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งไทยยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry ทำให้ไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ อิเล็กทรอนิกส์ BCG (Bio-Circular-Green) การแพทย์และสุขภาพ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดิจิทัล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น Data Center เป็นต้น

บิ๊ก EV-ดิจิทัลเชื่อมั่นไทย

“สิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งที่เรามี ทำให้ไทยเป็นแหล่งลงทุนที่โดดเด่นในภูมิภาค ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีโครงการขนาดใหญ่หลายกิจการตัดสินใจลงทุนในไทย สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ของกลุ่ม BYD, MG, Great Wall Motor หรือความสามารถดึงดูดให้ผู้เล่นรายสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะผู้ให้บริการ Data Center และ Cloud ระดับโลกให้มาลงทุนในไทยได้ เช่น กลุ่ม Amazon Web Services (AWS), Supernap, Telehouse และคาดว่าปีนี้จะยังมีการลงทุนในธุรกิจ Data Center อย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยสำคัญจาก การเติบโตของผู้ใช้งานดิจิทัลในไทย ระบบไฟฟ้าที่เสถียร และมีความพร้อมในการให้บริการไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน”

นายนฤตม์ กล่าวด้วยว่า เพื่อผลักดันแผนงานและเป้าหมายให้บรรลุผล ในปีนี้บีโอไอมีแผนจัดโรดโชว์ เพื่อดึงการลงทุน โดยเริ่มแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา หลังจากนี้มีแผนจัดโรดโชว์ในจีน และยุโรปมุ่งเป้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใหม่ ๆ ตามที่บีโอไอได้ประกาศยุทธศาสตร์ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ (ปี 2566-2570) เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่”ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม