"สุรพงษ์" กางแผน "รถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร" เปิดให้บริการปีนี้

14 พ.ค. 2567 | 17:49 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2567 | 17:56 น.
599

"สุรพงษ์" เปิดแผนสร้าง "รถไฟทางคู่ นครปฐม – ชุมพร เตรียมเปิดให้บริการเต็มระบบปลายปีนี้ หวังอำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางท่องเที่ยวแดนใต้

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ติดตามความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร นั้น เป็นการติดตามงานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงด้านคมนาคม โดยโครงการนี้มีความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง และการเดินทางของประชาชนในการเดินทางสู่ภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่ผ่านมา มีพี่น้องประชาชนใช้บริการรถไฟในเส้นทางสายใต้เป็นจำนวนมาก

\"สุรพงษ์\" กางแผน \"รถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร\" เปิดให้บริการปีนี้

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร  เป็นโครงการสำคัญในเส้นทางสายใต้ มีระยะทาง 420 กิโลเมตร งบประมาณการก่อสร้าง 33,982 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการระหว่าง สถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร

 

ส่วนช่วงที่ 2 ของสายใต้ระหว่างสถานีโพรงมะเดื่อ-บ้านคูบัว ระยะทาง 50 กิโลเมตร และสถานีสะพลี – ด้านเหนือสถานีชุมพร ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยในส่วนของงานโยธาได้ดำเนินการใกล้เสร็จครบทั้งหมด งานด้านระบบอาณัติสัญญาณ มีความคืบหน้าแล้ว  58.489% และตามแผนจะเปิดใช้ทางคู่ประมาณช่วงเดือนมิถุนายน 2567  

 

ด้านภาพรวมความก้าวหน้าของโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ทั้งระบบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 สัญญา ขณะนี้ทุกโครงการมีความก้าวหน้าตามลำดับ โดยคาดว่าทุกโครงการจะดำเนินการาแล้วเสร็จภายในปีนี้ และมีความพร้อมเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ได้เต็มระบบภายในปลายปี 2567  โดยมีรายละเอียด ได้แก่

1. ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 1 (นครปฐม – หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท ความคืบหน้าผลงาน 98.319% ล่าช้ากว่าแผน 1.681%

\"สุรพงษ์\" กางแผน \"รถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร\" เปิดให้บริการปีนี้

2. ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 2 (หนองปลาไหล - หัวหิน) ระยะทาง 76 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท ความคืบหน้าผลงาน 99.313% ล่าช้ากว่าแผน 0.687%

 

3. ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ

 

4. ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 1 (ประจวบคีรีขันธ์ - บางสะพานน้อย) ระยะทาง 88 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท ความคืบหน้าผลงาน 99.245% สร้างล่าช้ากว่าแผนงาน 0.755 %

\"สุรพงษ์\" กางแผน \"รถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร\" เปิดให้บริการปีนี้

5. ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 2 (บางสะพานน้อย - ชุมพร) ระยะทาง 79 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท ความคืบหน้าผลงาน 99.425% สร้างล่าช้ากว่าแผนงาน 0.575 %

ทั้งนี้การรถไฟฯ ได้รายงานความคืบหน้าของสถานีรถไฟเพชรบุรีแห่งใหม่ สำหรับรองรับโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งได้ทยอยเปิดใช้งานไปแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่าผู้โดยสารได้รับความสะดวก มีความพึงพอใจต่อการใช้บริการ โดยตัวอาคารเป็นลักษณะอาคารขนาดใหญ่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

 

ทั้งลิฟต์ บันไดเลื่อน บันไดทางขึ้นลง บันไดหนีไฟ ห้องสุขา ห้องพักรอสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ห้องให้นมบุตร ห้องรับฝากสิ่งของห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ รวมทั้งพื้นที่ใช้สอยสำหรับประชาชน นักท่องเที่ยว และมีกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน 2567

\"สุรพงษ์\" กางแผน \"รถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร\" เปิดให้บริการปีนี้

"ตนได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ ดูแลการให้บริการแก่ผู้โดยสาร และประชาชนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการภายในสถานีรถไฟให้ได้รับความสะดวกสูงสุด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว สามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบุรีได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น"

 

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ถือเป็นเส้นทางสำคัญในการยกระดับการเดินทาง ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ลดระยะเวลาในการเดินทาง พัฒนาคุณภาพชีวิต ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงเครือข่ายการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน สินค้าและบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตามยังเป็นการเชื่อมต่อระบบการขนส่งเส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร เช่น รถเช่า เรือท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนต่อไป