คลอดสิทธิประโยชน์ดึงบริษัทผลิตแบตเตอรี่ EV จัดเต็มเว้นภาษี 15 ปี

05 พ.ค. 2567 | 15:21 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2567 | 15:23 น.
536

มาตรการส่งเสริมการลงทุนเผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV และระบบกักเก็บพลังงาน มีผลบังคับใช้แล้ว จัดเต็มสิทธิประโยชน์ เว้นภาษี 15 ปี อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ขณะนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ 1/2567 ซึ่งมาตรการนี้ จะช่วยดึงดูดเอกชนที่ลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน นั้น ถือเป็นมาตรการสำคัญเพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบกิจการชั้นนำของโลกที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตระดับต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย 

รวมทั้งยังช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับสาระสำคัญของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุน ดังนี้

คุณสมบัติของผู้ขอรับการส่งเสริม

  • ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
  • ต้องเป็นการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า แต่จะผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยก็ได้
  • ต้องผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ (Specific Energy Density ไม่น้อยกว่า 150 Wh/kg)
  • ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยนับจาก ร้อยละ 70 ของ Nominal Capacity ที่ Depth of Discharge ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ณ อุณหภูมิทดสอบ 20-25 องศาเซลเซียส
  • ต้องยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2570

ทั้งนี้ยังกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมอาจได้รับสิทธิและประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 

1.สิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย

  • เงินสนับสนุนจากกองทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน
  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี โดยไม่กำหนดวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้น
  • ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริม

2.สิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย

  • ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร
  • ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการทดสอบที่เกี่ยวข้อง
  • ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออก 
  • ลดหย่อนอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 90 ของอัตราปกติสำหรับวัตถุดิบ หรือวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายภายในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยจะอนุมัติให้คราวละ 1 ปี
  • อนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และทำงานในตำแหน่งที่ได้รับความเห็นชอบ
  • อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม 
  • อนุญาตให้นำหรือส่งเงินออกนอกราชอาณาจักรเป็นเงินตราต่างประเทศ

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ประกาศ ณ วันที่ 11 เมษายน 2567 เป็นต้นไป