รองประธาน ส.อ.ท. ให้จับตาวงจรอุบาทว์หลัง "อธิบดีกรมโรงงานฯ" ลาออก

02 พ.ค. 2567 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2567 | 08:22 น.
1.1 k

รองประธาน ส.อ.ท. จี้จับตาวงจรอุบาทว์ไทย หลัง "อธิบดีกรมโรงงานฯ ลาออก" ถามความถูกต้องและความเป็นธรรมของข้าราชการน้ำดีจากมรสุมในกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ตรงไหน หวังให้สังคมตื่นตัว

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประกาศลาออกจากราชการ โดยมีกระแสข่าวว่าสาเหตุสำคัญมาจากการถูกแรงกดดันอย่างหนักจากปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบกับเมื่อวันที่ 27 เมษายน ระหว่างลงพื้นที่ร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ,นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ถูกนายเศรษฐาตำหนิว่าลงพื้นที่เกิดเหตุล่าช้า

และนางสาวพิมพ์ภัทราไม่พอใจต่อการทำงาน ต้องการย้ายนายจุลพงษ์ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า ก่อนที่นายจุลพงษ์จะตัดสินใจในครั้งนี้

ต่อกรณีดังกล่าวล่าสุดนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว (Isares Rattanadilok) ระบุว่า ความถูกต้องและความเป็นธรรมของข้าราชการน้ำดี จากมรสุมในกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ตรงไหน 

กรณีเพลิงไหม้โรงงานที่ทำผิดกฎหมาย พรบ.วัตถุอันตรายฯ และพรบ.โรงงานฯ ที่อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และที่อำเภอภาชี จ.อยุธยาซ้ำซาก
 

  • มันคือ Accident หรือมีใครจงใจเผาทำลายหลักฐานวัตถุอันตรายฯที่เข้าสู่ระบบ และไม่ได้กำจัดตามกฎหมาย  
  • อำนาจหน้าที่ในการจัดการกำกับดูแลโรงงานตาม พรบ.วัตถุอันตรายฯ ได้ มอบอำนาจไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อ ในจังหวัดนั้นๆแล้ว ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับอธิบดีกรมโรงงาน ฯ ดังนั้นการที่ ท่านอธิบดีกรมโรงงานฯ ไปช่วย ให้คำปรึกษาแนะนำหน้างานในแต่ละกรณีจนเสมือนต้องกลายเป็นคนต้องมารับผิดชอบทั้งหมดมันถูกต้อง และเป็นธรรมหรือไม่ กับข้าราชการดีๆ เช่นนี้ 
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะระดับนโยบายควรจะลากไปถึงต้นตอว่ายุคไหน สมัยไหน ปลัดฯและอธิบดีท่านไหนที่มีการปล่อยปละละเลย(หรือเห็นด้วยฯ) ให้มีการอนุญาตให้ขนกากที่เป็นวัตถุอันตรายในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกองกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานฯ ได้ ทั้งๆที่ควรจะโดนจัดการไปตั้งแต่ปีที่เจ้าหน้าที่ได้คีย์อนุญาตให้มีการขนกากอันตรายไปแล้ว

กรณีกากแคดเมียม @จ.ตาก ก็สะท้อนปัญหาแบบมีเงื่อนงำ ในการจัดการกากวัตถุอันตรายที่ควรจะให้เป็นไปตาม EIA ที่กำหนดไว้ แต่ก็มีการฝ่าฝืนทำผิดกฎหมายล่าสุด การที่ข้าราชการประจำหลายหน่วยงานได้ลงพื้นที่ และพยายามแก้ไขปัญหาการขนกากแคดเมียมกลับมาที่ต้นทางให้ดีที่สุด ก็สมควรที่จะได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากผู้บังคับบัญชามากกว่าการจ้องดิสเครดิต หรือทำลายล้างกันแม้จะมีเหตุไม่คาดคิดใดๆ
 

บทสรุป  

หน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคการเมือง ทั้งที่ดูแลด้านนโยบาย และภาคนิติบัญญัติควรจะแสดงความเป็นมืออาชีพในการแก้ไขปัญหาที่ได้รับการมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้วจากส่วนกลาง 

  • การมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่ต้นตอที่ได้ก่อตัวเกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีต เอาคนผิดมาลงโทษรวมทั้งผู้ประกอบการสีดำที่ควรโดนลงโทษสูงสุด ไม่ใช่มุ่งแต่กดดันลงโทษคนที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและรับผิดชอบแทนในปัจจุบัน ตลอดจนเร่งแก้ปัญหาปัจจุบันที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนให้ดีที่สุด
  • อย่าให้การหาผลประโยชน์ในการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการประจำ ในตำแหน่งสำคัญๆที่อาจจะมีการวิ่งเต้นหาผลประโยชน์ เราควรยึดหลักธรรมาภิบาลด้วยการเลือก คนเก่ง และคนดีในการดำรงตำแหน่งที่สำคัญ

ท้ายนี้ไม่ว่าการลาออกของท่านอธิบดีกรมโรงงานฯ จะมีผลสรุปอย่างไร ก็ได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ จะทำให้สังคมที่เกี่ยวข้องจะได้ตื่นตัวด้วยการให้กำลังใจคนทำดี และร่วมจับตามองใกล้ชิด ต่อคนที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งร้าย และวงจรอุบาทว์ของประเทศ