ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 19 เมษายน 2567 ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีนางสาว แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม มีนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ , นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึง คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 11 สาขา ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
สำหรับวาระการประชุมที่น่าสนใจในครั้งนี้ คือการเปิดเผยก้าวสำคัญ ของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ และพัฒนาศักยภาพคนไทย ผ่านโครงการ OFOS หรือ One Family One Soft Power (1 ครอบครัว 1 Soft Power) เพื่อส่งเสริมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาคน โดยจะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ ผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ที่จะมีในทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ ให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเองในทุกด้าน
ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา และอื่นๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว โดยสามารถเรียนรู้ได้ทั้งทางออนไซต์ และออนไลน์ ไม่จำกัดว่าเป็นใคร จบการศึกษาอะไรมา ขอเพียงแค่มีความสนใจ และมีความสามารถในด้านนั้น ๆ ก็สามารถสมัครได้
ทั้งนี้มีเป้าหมายภายใน 4 ปีข้างหน้า จะสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ซึ่งหมายถึงการสร้างงานถึง 20 ล้านตำแหน่ง ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปีในอนาคต
นางสาวแพทองธาร เปิดเผยว่า จากการทำงานมามากกว่า 6 เดือนของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ วันนี้มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะมาแถลงความคืบหน้าของการทำงานซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ ที่จะยกระดับชีวิตของพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มียุทธศาสตร์ 3 ข้อ ในการสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ การพัฒนาอุตสาหกรรม มีคณะอนุกรรมการทั้ง 11 คณะที่เป็นภาคเอกชนมาพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งออกแบบนโยบาย และแก้ไขกฎหมาย และกำลังตั้งหน่วยงานที่ชื่อ THACCA หรือ Thailand Creative Culture Agency ผ่าน พ.ร.บ. ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนรับฟังสาธารณะ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าสภาในช่วงมิถุนายนนี้
“สำหรับ 3 ยุทธศาสตร์ ในการสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ ประด้วย นโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ โดยดิฉันได้มีโอกาสไปพบกับหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนของต่างประเทศ จากทั่วทุกมุมโลกจากทุกมหาอำนาจ เพื่อหาความร่วมมือ รวมถึงเรายังทำงานร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ในการส่งออกเพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ และ ส่วนที่ 3 คือสิ่งที่อยากมารายงานความคืบหน้าของการทำงาน ในวันนี้ คือ ส่วนของการพัฒนาศักยภาพพี่น้องคนไทยในโครงการ OFOS หรือ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์”
อุตสาหกรรมสร้างซอฟต์พาวเวอร์ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะยกระดับรายได้ ผลักดันให้ประเทศไทย เปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง อาชีพที่สร้างซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ว่าจะเป็น อาชีพเชฟอาหารไทย อาชีพนักมวยไทย อาชีพครูมวยไทย อาชีพนักตัดเย็บ และอีกหลายอาชีพ จะสามารถยกระดับรายได้ของพี่น้องประชาชน ให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อปี โดยจะมีการจัดอบรม UpSkill, ReSkill ให้พี่น้องประชาชนทุกคนที่อยากเรียนรู้ทักษะใหม่ พัฒนาศักยภาพให้ตัวเองเพิ่มเติม โดยทั้งหมดนี้จะเป็นการเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับ การอบรม OFOS จะเริ่มลงทะเบียนพร้อมกันทุกหลักสูตรต้นเดือนมิถุนายนนี้ สามารถลงทะเบียนได้ทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่ทุกหมูบ้านทั่วประเทศสำหรับปี 2567 เราตั้งเป้าหมายที่จะอบรบออนไลน์รวมกว่า 266,400 คน และจะมีการอบรมออนไซด์ 30,000 คนโดยประมาณ เช่นอุตสาหกรรมอาหารจะมีการอบรวมเชฟอาหารไทย 10,000 คน มวยไทย 6,000 คนโดยประมาณ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระการประชุมที่น่าสนใจอื่น ๆในวันนี้ คือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ เพิ่ม อาทิ แต่งตั้ง ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ , ปฐม อินทโรดม อนุกรรมการลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาฯ , วโรรส โรจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.เด็กดีอินเตอร์แอคทีฟ และ เจน จงสถิตย์วัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทนามีบุ๊คส์ จำกัด เป็นคณะอนุกรรมการฯ ด้านหนังสือ (เพิ่มเติม) เป็นต้น