ก้าวที่ท้าทาย “แพลนท์เบสไทย” สู่การเป็นฮับโลก อีกซอฟต์พาวเวอร์เคลื่อน ศก.

28 ก.พ. 2567 | 13:13 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 16:28 น.

“แพลนท์เบสไทย” อยู่ในช่วงเผชิญความท้าทาย จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศ ความต้องการของผู้บริโภคขาลง ต้นทุนการผลิตสูง เสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร เป้าหมายไทยฮับการผลิตแพลนท์เบสโลก จะต้องทำอย่างไรบ้าง ฟังกูรูมีคำตอบ

บทความโดย : วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย  นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

แนวโน้มการบริโภคของผู้คนทั่วโลกยังให้ความสำคัญในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อย้อนรอยดูเทรนด์อาหารตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ ต่อมากระแสการบริโภคอาหารจากพืช (Plant-based Food) มีความชัดเจนขึ้นในปี ค.ศ. 2011 และกลายเป็นกระแสที่ได้รับ การพูดถึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญ ให้เกิดการตื่นตัวของอุตสาหกรรมอาหาร

เฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์การบริโภค Plant-based Food ที่ปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้นในท้องตลาด เช่น เนื้อจากพืช (Plant-based Meat) นมทางเลือกจากพืช (Plant-based Milk) หรือแม้แต่ขนมหรือของทานเล่นจากพืช (Plant-based Snack) โดยปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสินค้ากลุ่ม Plant-based Food กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการมีผู้ประกอบการรายใหญ่ รายเล็ก รวมไปถึงร้านค้าปลีก ต่างตบเท้าเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกกันอย่างคึกคัก

ก้าวที่ท้าทาย “แพลนท์เบสไทย” สู่การเป็นฮับโลก อีกซอฟต์พาวเวอร์เคลื่อน ศก.

 

  • ทางเลือกที่ท้าทายเพื่อทางรอด

ในปี ค.ศ. 2023 สินค้ากลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) และ Plant-based Food ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ถึงแม้ว่ายอดขายของ Plant-based Protein จะลดลงกว่าช่วงที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในช่วงดาวรุ่ง เนื่องจากได้รับกระแสการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างมากจากปัจจัยเร่งต่าง ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกระแสหลายอย่างเริ่มเบาบางลง อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มฟื้นตัว กระแสการโฆษณาที่ลดลง รวมถึงการตื่นตัวของผู้บริโภคที่อยากลองสินค้ารูปแบบใหม่ เริ่มลดลงหลังจากที่ได้ลองรับประทานสินค้ากลุ่ม Plant-based Food แล้ว ทำให้ในปี ค.ศ.2024 นี้ เราจะได้เห็นความสนใจ จริง ๆ ของผู้บริโภคกลุ่มสินค้า Plant-based Protein ซึ่งจะให้ความสำคัญในการเลือกรับประทานจากองค์ความรู้ โภชนาการ รสชาติ และราคาที่เข้าถึงได้

ดังนั้นในปีมังกรทองนี้จึงนับเป็นช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นของโปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant-based Protein) ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและรับมือหาแนวทางในการผ่านพ้นช่วงที่แนวโน้มกระแสและยอดขายลดลง จากความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะ ปัจจัยด้านราคา รสชาติ และเนื้อสัมผัส ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในตลาดของผลิตภัณฑ์ Plant-based Food ในช่วงที่ผ่านมา

ก้าวที่ท้าทาย “แพลนท์เบสไทย” สู่การเป็นฮับโลก อีกซอฟต์พาวเวอร์เคลื่อน ศก.

  • สร้างโอกาสจากศักยภาพที่มี

หนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะยกระดับอุตสาหกรรม Plant-based Food คือการเพิ่มสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศ ในอดีต เราบริโภค Plant-based Food ในรูปแบบของ Plant-based Meat, Plant-based Milk และ Plant-based Snack ในบางโอกาส เช่น เทศกาลกินเจ หรือบางคนอาจรับประทานมังสวิรัติ งดการบริโภคเนื้อสัตว์ในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันพระ วันเกิด เดือนเกิด เป็นต้น

โดยในปี ค.ศ. 2023 สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยจึงได้ริเริ่มแคมเปญ “เว้นเดย์ วัน Wednesday” เชิญชวนให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ทั้งร้านอาหาร โรงอาหาร โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล เพื่อรณรงค์การบริโภคอาหารอนาคตกันทุกวันพุธ ซึ่งอาหารอนาคตนั้นรวมถึง Plant-based Meat โปรตีนทางเลือกจากแมลง อาหารออร์แกนิคที่ปลอดสารเคมี อาหารฟังก์ชันที่ดีต่อสุขภาพ และอาหารทางการแพทย์อีกด้วย

ก้าวที่ท้าทาย “แพลนท์เบสไทย” สู่การเป็นฮับโลก อีกซอฟต์พาวเวอร์เคลื่อน ศก.

ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมและศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตและตลาด Plant-based Food ดังจะเห็นได้จาก แบรนด์ต่าง ๆ มากกว่า 20 แบรนด์ ที่พร้อมใจกันเข้าร่วม แคมเปญ “เว้นเดย์ วัน Wednesday” ได้แก่ Meat Avatar, VG4Love, Let’s Plant Meat, Mantra, More Meat, Lamai, Velimeat, Absolute Plant, Mon Amour, Bounce Burger, Meble Snack, Meatly, alt. Eatery, OMG Meat, SMS, Never Meat, Eggyday, V Farm, Mudjai, Kap kap

  • ความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม

Plant-based Food ยังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ต้องเผชิญและก้าวผ่าน เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง รวมถึงราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มขยับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น กระทบถึงราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ลดลง

ปัจจุบันสินค้ากลุ่ม Plant-based Food มีความหลากหลายและมีการจำหน่ายในท้องตลาดมาก แต่ความต้องการ (Demand) ของผู้บริโภคยังมีไม่มากนัก จึงต้องสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งด้านการตลาดและองค์ความรู้ เนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีความกังวลในเรื่องส่วนผสมและกระบวนการผลิต Plant-based

ก้าวที่ท้าทาย “แพลนท์เบสไทย” สู่การเป็นฮับโลก อีกซอฟต์พาวเวอร์เคลื่อน ศก.

  • ปรับปรุงให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การที่จะก้าวข้ามผ่านความท้าทายและปรับตัวสู่ S Curve ได้นั้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกลยุทธ์ทางการค้าและปรับตัวใน ประเด็นที่เป็น Pain Point ของลูกค้า อาทิ การปรับปรุงรสชาติ ลดส่วนประกอบของส่วนผสมปรุงแต่งให้น้อยลง การทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติและกลุ่มวีแกน นอกจากนั้นยังต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ด้านการปรับปรุงกลยุทธ์ทางการค้า ผู้ผลิตอาจปรับสินค้า Plant-based Meat ให้อยู่ในรูปแบบพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) หรือนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในเมนูอาหารที่มีชื่อเสียงของไทยให้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการขาย Plant-based Meat แบบเดี่ยว ๆ โดยควรมีการจับมือกับคู่ค้าธุรกิจ เช่น ร้านอาหารต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก รวมถึงพ่อค้า แม่ค้า ที่ขายอาหาร Street Food ให้เพิ่มมากขึ้น การปรับกลยุทธ์ในรูปแบบนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มการรับรู้การเข้าถึงของผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการนำ Soft Power เข้ามากระตุ้นตลาดอีกด้วย นอกจากนี้ การนำ Plant-based Meat มาทำเป็นสินค้าอาหารยังเป็นการละลายต้นทุน ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ Plant-based Meat ถูกลง สามารถแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้คนหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชได้มากขึ้นเช่นกัน

  • การเปลี่ยนแปลงของการผลิตอุตสาหกรรม Plant-based ทั่วเอเชีย

ในปี ค.ศ. 2023 มีการปรับตัวของอุตสาหกรรม Plant-based Food อย่างมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาทิ การ ปรับกลยุทธ์ด้านราคา ที่เปลี่ยนจากการลดต้นทุนของส่วนผสมอาหารและวัตถุดิบไปสู่การลดต้นทุนทางธุรกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่ทำการผลิตและเน้นใช้แรงงานในท้องถิ่น ลดการสูญเสียที่ทำให้เกิดขยะอาหาร การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอสินค้า เช่น จากสินค้ารูปแบบการแช่เยือกแข็ง เป็นรูปแบบที่สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องได้เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงด้านรสชาติและเนื้อสัมผัส โดยต้องเร่งการศึกษาผ่านช่องทางจำหน่ายโดยเฉพาะกลุ่ม HORECA (โรงแรม ร้านอาหาร และการ จัดเลี้ยง) หรืออาจมีการทำงานร่วมกับเชฟเพื่อพัฒนา Plant-based Food ให้มีสูตรอาหารเฉพาะและใช้นวัตกรรมเพื่อมุ่งเน้น การปรับรสชาติและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของวัตถุดิบหลักอย่างถั่ว ด้านโภชนาการต้องมุ่งเน้นการใช้ส่วนผสมอาหารในการผลิตลดลง ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก 45% ให้ความสำคัญเรื่องโภชนาการอาหารและเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อ

ก้าวที่ท้าทาย “แพลนท์เบสไทย” สู่การเป็นฮับโลก อีกซอฟต์พาวเวอร์เคลื่อน ศก.

  • ความพร้อมการเป็นฐานการผลิต Plant-based Food ระดับภูมิภาคอาเซียนของไทยด้วยศักยภาพการผลิตจากโรงงาน มาตรฐานระดับโลก

ประเทศไทยมีโรงงานผลิต Plant-based Food ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คือ บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2023 มีกำลังการผลิตในเฟสแรกที่ 3,000 ตันต่อปี และมีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตไปได้สูงสุดถึง 25,000 ตันต่อปีในอนาคต เป็นโรงงานที่วางมาตรฐานการผลิตไว้สูงในระดับโลก ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรอง มาตรฐาน GHPs, HACCPs, Halal และ เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2024 เป็นบริษัทแรกในเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการรับรอง มาตรฐาน BRCGS Plant-Based Global Standard

บริษัทแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการลงทุนโดย บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทอินโนบิคเอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) สัดส่วน 50% กับบริษัทโนฟฟู้ดส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) สัดส่วน 50% ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บริษัทวางเป้าหมายเป็นฐานการผลิต Plant-based Food ของโลกที่เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยมองเห็นโอกาสจากมูลค่าตลาด Plan-based Protein ของโลกปัจจุบันอยู่ที่ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหลักอยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริการาว 75% เอเชีย 18% และที่เหลืออยู่ในทวีปอื่น ๆ ซึ่งมูลค่าตลาด Plant-based Protein ของไทยอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน เพียง 1-2% ของมูลค่าตลาดโลก ด้วยยุทธศาสตร์ที่ไทยเป็นครัวของโลก ประกอบกับค่าแรง และความพร้อมของวัตถุดิบต่างๆ ทำให้ได้เปรียบมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในโลก อีกจุดเด่นที่สำคัญของไทยคือ รสชาติอาหารของไทยซึ่งมีชื่อเสียงในระดับโลกที่ ช่วยการันตีด้านรสชาติความอร่อย

ก้าวที่ท้าทาย “แพลนท์เบสไทย” สู่การเป็นฮับโลก อีกซอฟต์พาวเวอร์เคลื่อน ศก.

ปัจจุบันบริษัทมีการเจรจากับคู่ค้าในโอเชียเนีย ยุโรป ฝรั่งเศส อิสราเอล สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ซึ่งส่งออกไปหลายรูปแบบอาทิ กลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) เช่น เนื้อบด มีทบอล และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เช่น ไส้ กรอก นักเก็ต และเกี๊ยวซ่า เป็นต้น โดยในปีค.ศ. 2024 ทางบริษัทมีความพร้อมที่จะบุกตลาดส่งออกทุกภูมิภาคทั่วโลก ด้วย มาตรฐานระดับโลก ราคา คุณภาพ รสชาติ และชื่อเสียงของไทย ทำให้ Plant-based ในภูมิภาคอาเซียนสามารถใช้ไทยเป็น Hub การผลิตของ Plant-based Food ได้

ขณะเดียวกันทางด้านยุโรปและอเมริกาซึ่งกำลังประสบภาวะเงินเฟ้อ ทำให้มีลูกค้า หลายรายเริ่มเข้ามาเจรจาและจ้างผลิต ยิ่งทำให้มั่นใจว่าบริษัทมีความพร้อมมากทั้งมาตรฐานการผลิต และคุณภาพสินค้า เพื่อ รองรับคู่ค้าทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยตั้งใจจะดึงดีมานด์ของ Plant-based Food ทั่วโลกมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรกรไทย สร้างงานให้กับคนไทย และสร้างชื่อเสียงด้านมาตรฐานการผลิตระดับสูง ให้แก่ประเทศไทย

การปรับตัวรับมือความท้าทายของบริษัท คือการก้าวผ่านประเด็นหลักคือเรื่องรสชาติและราคา โดยมีการวิจัยและนำ นวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนา จึงเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมและมาตรฐานจะเป็นปัจจัยที่ส่งให้อุตสาหกรรม Plant-based Food ของ ไทยไปได้ไกล โดยกระแสในอนาคต Plant-based Food ยังคงได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแส รักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะมีมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นมองว่า Plant-based จะเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในอนาคต

อนาคต Plant-based ระดับสากลยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในอเมริกาและยุโรปที่ Plant-based Food เป็นที่รู้จักและ ยอมรับแล้ว ในขณะที่ไทยและอาเซียนอาจจะโตช้าเล็กน้อย เนื่องจากการรับรู้ใน Plant-based Food ยังมีไม่มากและเป็นช่วงเริ่มต้น แต่ทั้งนี้มั่นใจว่าสถานการณ์ในอนาคต Plant-based Food ยังเติบโตได้ดี ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เนื้อสัมผัสและรสชาติ ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น และสามารถผลิตต้นทุนได้ลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคจับต้องได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเรื่องรสชาติและราคาจะผลักดันให้อุตสาหกรรม Plant-based Food เป็นอุตสาหกรรมกระแสหลักได้

  • เสริมความพร้อมสร้างแบรนด์ไทยดังไกลทั้งในและต่างประเทศ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ก็ได้เปิดเผยแผนดำเนินงานของผลิตภัณฑ์ Plant-based Meat ภายใต้แบรนด์ Meat Zero วางงบประมาณไว้กว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยให้ความสำคัญกับการผลิต สร้างโรงงานย่าน มหาชัย ตอบรับกำลังการผลิตกว่า 12,000 ตัน/ปี ทั้งยังได้ร่วมทุนกับยุโรปเพื่อเสริมกำลังการผลิตอีกประมาณ 9,000 ตัน/ปี และจะเน้นการสร้างแบรนด์ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย เมื่อตลาดภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการไทย ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก สามารถผลิต Plant-based Meat ได้ในปริมาณมากขึ้น แน่นอนว่าเราจะสามารถสร้างความได้เปรียบในเรื่องราคาได้อย่างไม่ยาก

  • ผนึกกำลังเพื่อสนับสนุนและส่งเสริม

ปัจจัยสำคัญในการผลักดันโอกาสสินค้า Plant-based คือ การสนับสนุนและความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทั้งด้านการ กำหนดมาตรฐานสินค้า Plant-based เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคชาวไทยและคู่ค้าทั่วโลก การผลักดันการจัดทำ ระบบอาหารที่มีการกล่าวอ้างอาหารเชิงหน้าที่ (FFC Thailand) เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถยืนยันการกล่าวอ้าง เชิงสุขภาพด้วยเอกสารหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบออนไลน์ โดยครอบคลุมผลผลิตทางการเกษตร อาหารปรุงสด และอาหารท้องถิ่น เพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตอาหารมูลค่าสูง

รวมถึงการสนับสนุนทางด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์สร้างการ รับรู้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริมตลาดโดยจัดกิจกรรม Business Matching การจับคู่ธุรกิจทางการค้า การส่งเสริมให้มีการออกงานจัดแสดงสินค้า เช่น งาน SEOUL FOOD & HOTEL งานแสดงสินค้า Gulfood งานแสดงสินค้า FOODEX JAPAN รวมถึงงานแสดงสินค้าในประเทศที่สำคัญอย่างงาน THAIFEX –ANUGA ASIA

ความสำเร็จจากงาน THAIFEX –ANUGA ASIA 2023 ที่มีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้น 131,039 คน เพิ่มขึ้น 58% เป็นผู้เข้าร่วมงาน 3,034 บริษัท จาก 45 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เอเชียตะวันออก อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ลาติน อเมริกา ตะวันออกกลาง เป็นต้น และมีมูลค่าการซื้อขายจากการจัดงานรวม 120,002.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.36% นับเป็น งานแสดงสินค้าในประเทศไทยทางด้านอาหารที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

โดยภายในงานภาพรวมของสินค้ากลุ่ม Plant-based Meat ได้รับความสนใจจากคู่ค้าต่างประเทศมากขึ้น แต่ไม่มากเท่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าในประเทศโดยเฉพาะคู่ค้าที่ทำ ธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหาร สำหรับปี ค.ศ. 2024 งาน THAIFEX –ANUGA ASIA 2024 จะจัดขึ้นในวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2567 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Beyond Food Experience” โดยคาดหวังว่างานนี้จะช่วยสร้างการรับรู้ของสินค้าไทยในตลาดโลก เพิ่มโอกาสและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอาหารไทย ทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ให้สามารถเปิดตลาดใหม่ และเติบโตได้ในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยผลักดันการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยให้ขยายตัวสูงขึ้น

ก้าวที่ท้าทาย “แพลนท์เบสไทย” สู่การเป็นฮับโลก อีกซอฟต์พาวเวอร์เคลื่อน ศก.

  • โอกาสแห่งการเป็นดาวรุ่ง

อนาคตของสินค้า Plant-based Food ยังมีโอกาสทั้งในและต่างประเทศ โดยในอนาคตเราจะเห็นสินค้า Plant-based Food เป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีการปรับปรุงรสชาติและราคา และการปรับรูปแบบ สินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น เรามาตรวจชีพจรของ Plant-based Food แต่ละกลุ่มในตลาดกันว่าเต้นแรงระดับใด

Plant-based Meat ยังคงเติบโตได้ในอนาคต คาดการณ์ตลาดของ Meat Alternatives ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปี ละ 7% (คาดการณ์ช่วงปี ค.ศ. 2024-2028) ซึ่งคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากช่วงปี ค.ศ. 2023 ที่คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเติบโต เฉลี่ยปีละ 12% (คาดการณ์ช่วงปี ค.ศ. 2018-2023) โดยตลาดหลักอยู่ที่ภูมิภาคยุโรป ตามด้วยเอเชียแปซิฟิก และอเมริกาเหนือ ตามลำดับ

Plant-based Milk เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่แพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) ที่เกิดจากการย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้ เป็นอาการทางเดินอาหารหลังจากดื่มนมวัว หรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัว นอกจากนี้ยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ รวมถึงผู้ที่รับประทานมังสวิรัติแบบวีแกนได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยคุณประโยชน์ขึ้นอยู่กับคุณค่าทางสารอาหารของธัญพืชนั้น ๆ จึงทำให้ Plant-based Milk ได้รับความนิยมมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

แนวโน้มการเติบโตของตลาดนมจากพืชในไทยคาดว่าจะเติบโตที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 4% ในปี ค.ศ. 2023-2027 โดยปี ค.ศ. 2024 คาดว่ามูลค่าการตลาดจะอยู่ที่ 19,926 ล้านบาท ขณะที่ขนาดของตลาด Plant-based Milk ทั่วโลกมีมูลค่า 29.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2023 และคาดว่าจะอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 12.6% ตั้งแต่ปีค.ศ. 2024 ถึง 2030 Plant-based Milk กำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากผู้คนให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น และจำนวนของผู้มีอาการแพ้แลคโตสเพิ่มขึ้น โดยนมถั่วเหลืองครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ เพราะผู้บริโภคมีความคุ้นเคย และรู้จักมาอย่างยาวนาน ส่วนนมอัลมอนด์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่เยาวชนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ

นอกจากนั้นยังมีนมจากพืชอีกหลายประเภท อาทิ นมข้าวโอ๊ต นมข้าวกล้อง นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์รวมถึง กะทิ ก็ได้รับความนิยมทั่วโลกเช่นกัน ทั้งนี้ตลาดหลักของผลิตภัณฑ์ Plant-based Milk คือเอเชียแปซิฟิกซึ่งครองรายได้กว่า 45% ทั่วโลก ตามด้วยตลาดอเมริกาเหนือ และยุโรป ตามลำดับ Plant-based Milk มีจำหน่ายในรูปแบบนม แล้วยังอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย โยเกิร์ต ครีม และยังนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาว และหวานซึ่งเห็นได้มากขึ้นในร้านอาหารและร้านคาเฟ่

Plant-based Snack คาดว่าจะมีมูลค่า 36,083 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2023 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 76,186.6 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปีค.ศ. 2033 ในอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 8.0% ในช่วง ค.ศ. 2023-2033 ความนิยม Plant-based Snack มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคต้องการอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ ทำจากธรรมชาติอร่อย อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของกลุ่มผู้รับประทานอาหารวีแกน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล

จะเห็นได้ว่า ชีพจรของ Plant-based Food แต่ละกลุ่มยังคงเต้นได้แข็งแรงดี แม้ความท้าทายในอนาคตยังคงมีอยู่ จากปัจจัย ด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดยังมีโอกาสเติบโตจากการที่ผู้บริโภคยังคงใส่ใจสุขภาพ อีกทั้งจำนวนประชากรมังสวิรัติและวีแกนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2023 ประชากรโลกประมาณ 22% เป็นกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติและวีแกน

นอกจากนี้ การที่แนวโน้มประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสูงถึง 9 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 ก็ย่อมเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดอาหารจากพืชมีแนวโน้มเติบโตได้ไม่ยาก เนื่องจากในอนาคตผู้บริโภคจะยิ่งตระหนักถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม จึงมองหาแหล่งอาหารทางเลือกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

เป้าหมายในปี ค.ศ. 2024 คือความพยายามในการลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นความต้องการของตลาด โดยการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค และหาแนวทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าผลิตภัณฑ์ Plant-based Food ให้ง่ายและมากขึ้น โดยอาศัยช่องทางของการค้าปลีกและร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงและสรรค์สร้างเมนู Plant-based Food ที่น่ารับประทาน ดีต่อสุขภาพ และราคาเข้าถึงได้ง่าย

อาศัยประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญการเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารระดับแนวหน้าของโลก ผู้ประกอบการไทยจึงต้องการเสียงสะท้อนของผู้บริโภคเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนา Plant-based Food ได้ตรงตามต้องการของผู้บริโภค ย่อมส่งผลให้ ประเทศไทยเป็นฮับของการผลิต Plant-based Food มุ่งหน้าสู่การเป็น “ครัวอาหารสุขภาพของโลก” ที่เสิร์ฟความอร่อย ควบคู่ไปกับคุณค่าทางโภชนาการ ตอบโจทย์ความยั่งยืน และนี่คือหมากสำคัญของ Soft Power ที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับ อาหารไทยในตลาดโลกได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแน่นอน