ต้นทุนทำสวนยาง FSC พุ่ง 1,300 บาท/ไร่ วอนผู้ค้าบวกราคา เพิ่มแรงจูงใจเกษตรกร

07 เม.ย. 2567 | 13:39 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2567 | 13:57 น.
5.9 k

เทียบต้นทุนสวนทำยางยั่งยืน มาตรฐาน FSC กับสวนยางทั่วไป เกษตรกรแบกต้นทุนเพิ่ม 1,382 บาทต่อไร่ นักวิชาการกระทุ้งผู้ค้าให้ราคาเพิ่ม 6 บาทต่อ กก.เพิ่มแรงจูงใจชาวสวนสู่มาตรฐาน แลกลดถูกกีดการค้า เพิ่มขีดแข่งขันประเทศ

ยังเป็นข้อถกเถียงว่าสวนยางพาราไทยที่เปิดกรีดได้ที่มีอยู่กว่า 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ ควรต้องยกระดับสู่มาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเกี่ยวกับมาตรฐานการรับรองป่าไม้ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกเพื่อจัดทำระบบรับรองมาตรฐานไม้และผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับประกันว่าไม้และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการประทับตรา FSC มาจากป่าธรรมชาติหรือป่าปลูกที่มีการจัดการป่าอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ คือมีการปลูกไม้แบบยั่งยืนหรือไม่

ทั้งนี้หากสวนยางไทยทั้งระบบได้มาตรฐาน FSC ก็ไม่ต้องกลัวว่าสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ของไทยจะถูกกีดกันการค้าในอนาคต แต่ทางกลับกันจะสามารถเข้าถึงได้ทุกตลาดเพิ่มโอกาสการค้า และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร รวมถึงซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ดีการทำสวนยางมาตรฐาน FSC แตกต่างและมีต้นทุนสูงกว่าการทำสวนยางแบบปกติทั่วไป (Non FSC) อย่างไรนั้น

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โดยภาพรวมการทำสวนยาง FSC จะมีต้นทุนสูงกว่ายาง Non FSC ประมาณ 1,382 บาทต่อไร่ มีต้นทุนรวมต่อกิโลกรัม (กก.) สูงกว่ายางทั่วไปราว 2.07 บาทต่อกก. (ข้อมูลก่อนให้ผลผลิตปี 2566)

สำหรับต้นทุนหลักที่เป็นต้นทุนผันแปร ได้แก่ ค่าจ้างแรงงาน ค่าดูแลรักษา(รวมค่าจ้างพนักงานในการตรวจสวน FSC) ค่าวัสดุ ได้แก่ ค่าต้นกล้า ค่าปุ๋ย ค่ายาป้องกันกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช ค่าวัสดุการเกษตรและวัสดุสิ้นเปลือง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (เช่นชุดป้องกันสารเคมี ชุดป้องกันตัดหญ้า และถังขยะ เป็นต้น) รวมต้นทุนผันแปรมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 575.63 บาทต่อไร่

ต้นทุนทำสวนยาง FSC พุ่ง 1,300 บาท/ไร่ วอนผู้ค้าบวกราคา เพิ่มแรงจูงใจเกษตรกร

ต่อมาคือต้นทุนคงที่ สวนยาง FSC มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องค่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำระบบขอการรับรอง (รวมค่าจัดอบรมเกษตรกร) ค่าอุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้สำนักงาน (เช่น ค่าถ่ายเอกสาร และค่าสมุดจดบันทึก) ค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองปีแรก (586.37 บาท/ไร่) และค่าตรวจติดตามในปีที่ 2 เป็นต้นไป (78.18 บาท /ไร่) และค่าธรรมเนียมการใช้สัญลักษณ์มาตรฐาน FSC2 (9.77 บาท/ไร่) รวมต้นทุนคงที่เฉลี่ย 812.96 บาทต่อไร่ ทั้งนี้สวนยาง FSC จะให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 272.12 กก. เทียบสวนยางทั่วไปให้ผลผลิตเฉลี่ย 253.56 กก.ต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 18.56 กก.ต่อไร่

ปัจจุบันข้อมูลจากสมาคมยางพาราไทย ไทยมีพื้นที่สวนยาง FSC ประมาณ 4 แสนไร่ คิดเป็น 1.8% ของพื้นที่สวนยางที่กรีดได้ 22 ล้านไร่ โดยเป็นสวนยางของเกษตรกรภายใต้โครงการส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประมาณ 23,000 ไร่ ที่เหลือเป็นสวนยางของเอกชน

“ถามว่า FSC จำเป็นหรือไม่ มองว่าจำเป็น เพราะถ้าเราทำแล้วจะได้อย่างน้อย 2 เรื่องคือ 1.ได้มาตรฐาน EUDR ซึ่งเป็นกฎหมายของอียูที่ไม่ซื้อสินค้าที่มาจากการทำลายป่าผิดกฎหมาย และ 2.ได้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ยางพาราไทยต่อรองราคาได้มากขึ้น ทั้งนี้ในภาพรวมการทำสวนยาง FSC จากการสำรวจข้อเท็จจริงเกษตรกรมีต้นทุนเพิ่ม 3.50 บาทต่อกิโลกรัม รวมค่าบริหารจัดการตก 5 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นถ้าจะจูงใจให้เกษตรกรทำสวนยาง FSC ผู้ค้าต้องบวกราคาเพิ่มให้เกษตรกรอย่างน้อย 6 บาทต่อกิโลกรัม”