NER ดีมานด์แผ่นยางรมควันพุ่ง ดันราคายางพารายืนเหนือ 90 บาท

29 มี.ค. 2567 | 08:00 น.

NER มองราคายางพารายืนเหนือ 90-95 บาท หลังดีมานด์โตสวนทางซัพพราย ส่งอานิสงส์เชิงบวกต่อผลงานไตรมาส 1/67 คาดทั้งปีราคายางกลับมาอยู่จุดสมดุล 75-80 บาท วางเป้าทั้งปี 67 ปริมาณขายทะลุ 5.1 แสนตัน

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า จากแนวโน้มราคายางพาราที่เป็นขาขึ้น มองว่าเกิดจากปัจจับของซัพพรายที่ขาดแคลนในตลาด สวนทางกับดีมานด์ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคายางแผ่นรวมควันปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เหนือระดับเฉลี่ย 90-95 บาท/กิโลกรัม

ในขณะที่มีกระแสหนึ่งออกมาคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่ราคายางพาราจะถูกดันไปจนถึง 100 บาท/กิโลกรัม มองว่าราคาคงไปไม่ถึงจุดนั้น และเป็นเพียงความต้องการซื้อขายในราคาดังกล่าวของคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยส่วนตัวคาดการณ์ว่าราคายางพาราจะเริ่มทยอยปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ และคาดว่าเฉลี่ยทั้งปี 67 จะกลับมายืนอยู่ที่ระดับ 75-80 บาท/กิโลกรัม

ทั้งนี้ มองว่าความต้องการใช้งานยางพารา โดยเฉพาะยางแผ่นรมควัดในอุตสสาหรรมยางล้อยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์การส่งออกยางพาราขณะนี้ถือว่าดีมาก เนื่องจากยังมีความต้องการจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจากการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้งานแผ่นยางรมควันคุณภาพสูงมาใช้ผลิตล้อยางเครื่องบินจำนวนมาก

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเชิงบวกต่อธุรกิจ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 67 จนถึงปัจจุบัน หรือผ่านไปราว 3 เดือนแล้ว ความต้องการยังมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทได้รับออเดอร์จากลูกค้าทั้งรายเดิมและรายใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไปจนถึงไตรมาส 2/67 แล้วในขณะนี้

ส่งผลให้บริษัทคาดว่าปริมาณการจำหน่ายยางพาราในช่วงไตรมาส 1/67 จะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือไม่น้อยกว่า 1.1 แสนตันต่อไตรมาส และด้วยราคายางที่ปรับตัวเพิ่มสูงจะเป็นอานิสงส์ต่อผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกปีนี้เติบโตกว่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี บริษัทมีเป้าหมายปริมาณการจำหน่ายทั้งปี 67 ไว้เฉลี่ยที่มากกว่า 5.1 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5-10% จากเมื่อเทียบกับปี 66 ที่มีปริมาณการจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 497,053 ตัน

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 1,400 ล้านบาท รองรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 ที่มีกำลังการผลิต 302,400 ตัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 172,800 ตัน คาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จปลายปี 67 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 68 ซึ่งภายหลังจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว บริษัทจะมีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น 818,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 515,600 ตัน เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ บริษัทมีการวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรเพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้นในอนาคต ตลอดจนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานเพิ่มเติม โดยปัจจุบันบริษัทมีพลังงานหมุนเวียน คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และไบโอแก๊สที่ผลิตเพื่อใช้งานเองภายในบริษัท รวมกำลังการผลิต 8 เมกกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานของบริษัทได้เป็นอย่างดี

โดยในปี 67 นี้ บริษัทยังคงดำเนินโครงการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสังคม และมิติด้านบรรษัทภิบาล อาทิ โครงการห่วงโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืน โครงการตลาดสีเขียว โครงการห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ โครงการ NER ร่วมใจลดขยะพลาสติก โครงการตรวจสุขภาพกลุ่มเปราะบาง โครงการส่งสุขความรู้สู่ดวงใจพนักงานผ่านคาราวานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น และจะดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท


*NER รับอานิสงส์ราคาขางขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปี 67 ผู้บริหารคาดปริมาณขาย 5.1 แสนตัน ดีมานด์จากลูกค้าสัญชาติจีนยังคงแข็งแกร่ง ปัจจุบันอัตรากำลังผลิตอยู่ระดับ 90% ปีนี้จะได้ประโยชน์จากราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้น และคาดราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในช่วงครึ่งแรกปีนี้ จากเป็นฤดูปิดกรีดและดีมานด์จีนเป็นอีก 1 ปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุน สถานการณ์ปัจจุบัน สต๊อกยางที่จีน(ชิงเต่า) อยู่ระดับ 4.8แสนตัน ลดลงกว่าระดับปกติที่ 8 แสนตัน และผู้บริหารคาดอาจเห็นราคายางย่อตัวบ้างในช่วงครึ่งปีหลัง จากต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ดีมานด์ลดลงและซัพพลายที่จะเข้ามาเพิ่มหลังเปิดกรีด

คาดไตรมาส 1/67 ราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายทรงตัวจากไตรมาสก่อน ทำ GPM ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่ไตรมาสนี้มีกลับรายการค่าเผื่อการปรับมูลค่าสินค้าราว 7 ล้านบาท ทำให้ SG&A to sale ดีขึ้น คาดกำไรปกติ 462 ล้านบาท เติบโตขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และจากไตรมาสก่อน และในช่วงไตรมาส 2-3/67 จะมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นกว่าไตรมาส 1/67

และคาดว่าทั้งปี 67 มีรายได้ 2.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน GPM 12.0% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และได้ชำระคืนหุ้นกู้จำนวน 1.3 พันล้านบาท ไปเมื่อปลายปีก่อนจะทำให้ปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลง คาดมีกำไรปกติ 1,903 ล้านบาท เติบโต 20.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน

ในปี 67 นี้ คาดปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าค่ามาตรฐานมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้แล้งยาวนานกว่า มีผลต่อการเปิดกรีดยางช้าขึ้น เป็นผลให้ราคายางในประเทศปรับตัวขึ้นในอัตราที่มากกว่าราคายางในตลาดโลก มอง NER ได้ประโยชน์มากสุด มีสัดส่วนรายได้ในประเทศ 65% มากสุดในกลุ่มผู้ผลิตยางและปัจจุบันขายล่วงหน้าไปถึงไตรมาส 2/67 แล้ว ผู้บริหารยังมั่นใจว่าจัดหาวัตถุดิบได้เพียงพอ มีการจัดหาวัตถุดิบจากภูมิภาคอื่นเตรียมไว้มีการทำ ESG เพื่อรักษา Supply chain วางแผนเตรียมโรงงานให้รองรับ EUDR มีการขยายโรงงานในปีนี้จะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นในปี 68 และ 69 ไปปีละ 30% ของฐานกำลังผลิตในปัจจุบัน

จากปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมา ส่งผลให้ทางฝ่ายปรับ PE เพิ่มขึ้นเป็น 7.0 เท่า จากราคายางในปีนี้ที่มีทิศทางเป็นขาขึ้นเช่นเดียวกับปี 63 โดยใช้ PE เฉลี่ยในช่วงปีนั้น -0.75S.D. ปรับราคาพื้นฐานเพิ่มที่ 7.20 บาท คงคำแนะนำ "ซื้อ"