ปรับโฉมใหม่ “มนพร” นำทีมเปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน”

05 เม.ย. 2567 | 16:19 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 16:25 น.

“มนพร” เปิดท่าเรือท่าเตียน หลังเจ้าท่าปรับโฉมใหม่ หนุนท่าเรือท่องเที่ยวทางน้ำ พร้อมเปิดแผนพัฒนาท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา 29 ท่า

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดใช้ท่าเรือท่าเตียน “ราชรถยิ้ม : ท่าเรือท่าเตียน สะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงศูนย์กลางการคมนาคม และเยี่ยมชมห้องควบคุมความปลอดภัยทางน้ำ ว่า กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจกำกับดูแลความปลอดภัยทางน้ำได้พัฒนาท่าเรือตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นท่าเรือที่มีความสะดวก ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รองรับการเดินทางสัญจรทางน้ำของประชาชนและนักท่องเที่ยว 

ปรับโฉมใหม่ “มนพร”  นำทีมเปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน”

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า จท. ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือท่าเตียนและพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ งบประมาณ 39.047 ล้านบาท โดยได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมด

 

ทั้งนี้การก่อสร้างท่าเรือใหม่ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร ประกอบด้วย อาคารที่พักผู้โดยสาร จำนวน 2 หลัง โป๊ะเทียบเรือขนาด 6 x 12 เมตร จำนวน 4 โป๊ะ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ได้แก่ ป้ายบอกเส้นทางเดินเรือ ระบบเสียง กล้องวงจรปิด และทางลาดผู้พิการ ออกแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ศิลปะแบบโรมันผสมคลาสสิก ตกแต่งปูนปั้นเหนือช่องหน้าต่างพร้อมตกแต่งบานหน้าต่างด้วยลูกฝัก และทาสีตัวอาคารตามหลักสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเขตกรุงเก่า สามารถรองรับเรือต่าง ๆ อาทิ เรือข้ามฟากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณราชวราราม ฝั่งธนบุรี เรือโดยสารสาธารณะ เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า เรือทัวร์ และเรือทั่วไป 

ปรับโฉมใหม่ “มนพร”  นำทีมเปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน”
 

สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือทั้งหมด 29 ท่า มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

ปรับโฉมใหม่ “มนพร”  นำทีมเปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน”
1. ท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 10 ท่า ได้แก่ ท่าเรือ จท. ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพายัพ ท่าเรือบางโพ ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือราชินี ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือสาทร และท่าเรือคลองสาน

 

2. ท่าเรือที่อยู่ระหว่างปรับปรุง จำนวน 5 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ผลการดำเนินงาน 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2567 ท่าเรือพระราม 5 ผลการดำเนินงาน 45% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2567 ท่าเรือปากเกร็ด ผลการดำเนินงาน 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2567 ท่าเรือพระราม 7 ผลการดำเนินงาน 42% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2567 
 

ส่วนท่าเรือเกียกกาย ผลการดำเนินงาน 24% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2567 ทั้งนี้ตำแหน่งก่อสร้างท่าเรือเกียกกายเป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกัน จึงมอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการต่อ

ปรับโฉมใหม่ “มนพร”  นำทีมเปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน”

3. ท่าเรือที่มีแผนพัฒนาปรับปรุงในปี 2568 จำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือโอเรียนเต็ล ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเรือเขียวไข่กา

 

4. ท่าเรือที่มีแผนพัฒนาปรับปรุงในปี 2569 จำนวน 11 ท่า ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือวัดเทพากร ท่าเรือพิบูลสงคราม 2 ท่าเรือวัดเทพนารี ท่าเรือวัดตึก ท่าเรือรถไฟ ท่าเรือพิบูลสงคราม ท่าเรือสี่พระยา ท่าเรือวัดเขมา ท่าเรือพรานนก และท่าเรือวัดสร้อยทอง