มาเลเซียผงาด "จุดยุทธศาสตร์" เซมิคอนดักเตอร์ ท่ามกลางสงครามชิปโลก

04 เม.ย. 2567 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2567 | 14:29 น.

ความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีชิปที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐอและจีน ส่งผลให้ "มาเลเซีย" กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ มาเลเซียมีข้อได้เปรียบอะไร จึงกลายเป็นทางเลือกที่น่าดึงดูดเเละน่าจับตามองอย่างใกล้ชิด

เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบในทุกสิ่ง ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์ กลายเป็นศูนย์กลางของสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ "มาเลเซีย" กำลังกลายเป็นจุดสำคัญสำหรับโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ต้องกระจายการดำเนินงาน

มาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและมีประสบการณ์ราว 5 ทศวรรษใน "ส่วนหลัง" (back end) ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประกอบ ทดสอบ และบรรจุภัณฑ์

เดือนธันวาคม 2564  บริษัทชิปยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่าง Intel กล่าวว่า จะลงทุนมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานบรรจุภัณฑ์และทดสอบชิปในมาเลเซีย คาดว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2567

นโยบายที่มีความคิดก้าวหน้าและการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลในภูมิภาคร่วมกับพันธมิตรอย่าง InvestPenang ได้สร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมที่จะเจริญเติบโต

สะท้อนจากโรงงานผลิตในต่างประเทศแห่งแรกของ Intel ในปีนัง เมืองหนึ่งในประเทศมาเลเซีย เปิดตัวในปี 1972 ด้วยเงินลงทุน 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทเดินหน้าเพิ่มศูนย์ทดสอบเต็มรูปแบบ รวมถึงศูนย์การพัฒนาและการออกแบบในมาเลเซีย

เดือนกันยายนที่ผ่านมา GlobalFoundries บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อีกราย เปิดศูนย์กลางในปีนังเพื่อ สนับสนุนการดำเนินงานด้านการผลิตทั่วโลกควบคู่ไปกับโรงงานในสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และยุโรป

เดือนกรกฎาคม 2565  Infineon ผู้ผลิตชิปชั้นนำของเยอรมนี  กล่าวว่า จะสร้างศูนย์ผลิตชิปวงจรรวม (wafer fabrication) ที่เมืองคูลิมในรัฐเคดาห์ของมาเลเซีย ส่วน นิวเวย์ส (Neways) ซัพพลายเออร์หลักของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปจากเนเธอร์แลนด์อย่าง อาเอสเอ็มเอล (ASML) ประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า จะสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเมืองกลังอำเภอในรัฐเซอลาโงร์ ประเทศมาเลเซีย

ความได้เปรียบของมาเลเซียคือ แรงงานที่มีทักษะ

มาเลเซีย มีข้อได้เปรียบมาโดยตลอดเรื่องแรงงานที่มีทักษะในการบรรจุ ประกอบ และทดสอบ ยังมีต้นทุนดำเนินงานที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับที่อื่น มาเลเซียจึงสามารถส่งออกโดยมีศักยภาพทางการแข่งขัน 

ขณะที่ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียยังทำให้น่าดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตามความเห็นของ หยิงลัน ตัน หุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ก่อตั้งอินซิกเนีย เวนเจอร์ส พาร์ตเนอร์ส (Insignia Ventures Partners)

มาเลเซียน่าดึงดูดสำหรับผู้เล่นต่างชาติ

13% คือ ส่วนแบ่งในตลาดบริการบรรจุ ประกอบ และทดสอบชิปทั้งโลกของมาเลยเซีย แม้ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีความต้องการชิปที่อ่อนเเอ แต่มาเลเซียส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมเพิ่มขึ้น 0.03% แตะ 8.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มาเลเซียมีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่ส่วนหน้าของกระบวนการผลิตชิป ในการผลิตแผ่นวงจรรวม (wafer fabrication)และการพิมพ์หินด้วยแสง เพื่อพยายามขยายระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศและดึงดูดการลงทุน สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มาเลเซียได้จัดตั้งคณะทำงานเชิงกลยุทธ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับชาติเมื่อเดือนมกราคม 

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ในทำนองเดียวกันประเทศเช่น อินเดียและญี่ปุ่น ได้ดึงดูดบริษัทต่างชาติเนื่องจากตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางชิปหลักควบคู่ไปกับสหรัฐฯ ไต้หวัน และเกาหลีใต้

เดือนกุมภาพันธ์ อินเดียอนุมัติการก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ 3 แห่ง  ด้วยการลงทุนมากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เเละในเดือนมิถุนายนได้อนุมัติ Micron’s ชิปหน่วยความจำยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ

ในเดือนเดียวกันTSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก เปิดโรงงานแห่งแรกในญี่ปุ่นเนื่องจากแยกตัวออกจากไต้หวันท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน

เดือนตุลาคม 2565 สหรัฐฯ ออกกฎเพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูงของจีน ท่ามกลางความกังวลว่าจีนอาจนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ประกาศกฎระเบียบใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ Nvidia ผู้ออกแบบชิปของสหรัฐฯ ขายชิป AI ขั้นสูงให้กับประเทศจีน

โดยทั่วไปแล้ว มาเลเซียและเอเชียมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งการเข้าถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจสูงสุดทางเทคโนโลยีระดับโลก CNBC รายงาน 

ปัญหาสมองไหล ความท้าทายของมาเลเซีย

แม้มาเลเซียจะได้รับประโยชน์จากสงครามชิประหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ปัญหาสมองไหลก่อให้เกิดความท้าทายเมื่อคนงานออกจากประเทศเพื่อหางานทำที่ดีขึ้นและเงินเดือนที่สูงขึ้น อาจเป็นกรณีที่บริษัทต่างๆ ต้องลงทุนยกระดับทักษะแรงงานในมาเลเซีย 

การศึกษาในปี 2565 เปิดเผยว่า คนงานชาวมาเลเซีย 3 ใน 4 คนในสิงคโปร์ มีทักษะหรือกึ่งทักษะ (เป็นผู้ที่อยู่ในระดับกลางระหว่างแรงงานฝีมือและแรงงานไม่มีฝีมือ) โดยย้ำถึงปัญหาสมองไหลของประเทศ

ที่มา