ไทยในสงครามชิปโลก ต้องรักษาสมดุล มะกัน-จีน

21 มี.ค. 2567 | 07:25 น.

ไทยในสงครามชิปโลก ต้องรักษาสมดุล มะกัน-จีน บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3976

เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ไมโครชิป หรือ “ชิป” เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เปรียบเสมือนสมอง และหัวใจของเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่ทำหน้าที่สั่งการทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ ยานยนต์ยุคใหม่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมถึงใช้ในการผลิตดาวเทียม การวิเคราะห์ข้อมูลเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เครือข่าย 5G และอื่น ๆ
 
ว่ากันว่า หากประเทศใดสามารถควบคุมความเป็นหนึ่งในการผลิตชิป เท่ากับสามารถครองความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอเมริกา กับ จีน กำลังแย่งชิงความเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมโลก มีการทำสงครามการค้า ขยายสู่สงครามเทคโนโลยี โดยดึงประเทศพันธมิตรทางยุทธศาสตร์เข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของ “ชิป” ให้มากที่สุด
 

สหรัฐในยุคประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออก CHIPS Act 2022 เป็นกฎหมายในการเสริมสร้างการผลิต การออกแบบ และช่วยเหลือในการตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ใหม่ ๆ ในสหรัฐ ทั้งบริษัทอเมริกัน และบริษัทจากต่างชาติ กฎหมายฉบับนี้ได้จัดสรรงบสนับสนุนกว่า 52,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มงบวิจัยราว 200,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปี
 
แน่นอนว่ากฎหมายฉบับนี้ของสหรัฐ มีเป้าหมายสำคัญในการสกัดกั้นจีนขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลก ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม และ เทคโนโลยี ทวงความเป็นเบอร์ 1 ด้านเซมิคอนดักเตอร์โลก และแก้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่โลกเกิดวิกฤตขาดแคลนอย่างหนักช่วงโควิด-19 

ขณะที่จีนมีเป้าหมายเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกเช่นกัน โดยอยู่ในนโยบาย Made in China 2025 ลดพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติลงจาก 85% เหลือ 30% มีเงินสนับสนุนเพื่อการนี้กว่า 150,000 ล้านดอลลาร์
 

ล่าสุดจากที่ นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้นำคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ (PEC) ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน และองค์กรชั้นนำของสหรัฐ เดินทางเยือนไทยช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นางจีนา ประกาศสนับสนุนให้บริษัทเอกชนของสหรัฐขยายการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในไทย จากเป็นอุตสาหกรรมที่มีดีมานด์ หรือ ความต้องการมากที่สุดในโลก ตามการเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ ดิจิทัลอีโคโนมี และ AI โลก และเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โลก
 
อย่างไรก็ดี จากที่ไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ชาติในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ (National Semiconductor Strategy) ที่จะทำให้เห็นแผนงานและยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนและพัฒนา รวมถึงการวางเป้าหมายของไทยในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลกที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นเพื่อตัดสินใจลงทุนไทย ในเรื่องนี้คงต้องเร่ง
 
ขณะเดียวกันภาคการเมืองของไทย ต้องมีจุดยืน และรักษาดุลยภาพระหว่างสหรัฐและจีน จากสองพี่เบิ้มชิปโลกนี้ กำลังแข่งกันขยายห่วงโซ่อุปทานทั้งในประเทศตัวเองและในประเทศพันธมิตร ซึ่งมีคำถามว่า ในขณะที่บริษัทชิปจีนจะย้าย หรือ ขยายฐานการผลิตมา ไทย และ อาเซียน มากขึ้น เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีของจีน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สหรัฐอาจจะไม่เลือกไทยเป็นฐานผลิตชิป ด้วยเหตุผลจีนลงทุนแล้ว 

ดังนั้น ไทยคงต้องเจรจาต่อรอง รักษาจุดยืน และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับทั้งสองประเทศ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเหตุและผลที่ดี