ดึงมะกันผลิตชิปในไทย ชิงตลาดโลก 49 ล้านล้าน

20 มี.ค. 2567 | 11:16 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2567 | 11:55 น.
2.9 k

ตลาดชิปเดือด ชิงตลาดโลก 49 ล้านล้านบาท สหรัฐตีโอบคานอำนาจจีนครองเจ้าเทคโนโลยีโลก ยกไทยฐานผลิตใหม่ นักวิชาการชี้ไม่ง่าย 3 ปัจจัยตัวแปร บีโอไอลั่นพร้อมหนุน รัฐเด้งรับตั้ง “ม.ล.ชโยทิต” หัวหน้าทีมเจรจาดึงลงทุน ส.อ.ท.จี้เร่งผุดยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ

เซมิคอนดักเตอร์ หรือไมโครชิป หรือ “ชิป” เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำหน้าที่เป็นสมองหรือหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รถยนต์ไฟฟ้า(EV) เครื่องคอมพิวเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เครือข่ายโทรคมนาคมระบบ 5G และอื่น ๆ ซึ่งมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นทุกขณะ ว่ากันว่าหากประเทศใดสามารถควบคุมห่วงโซ่อุปทานในการผลิตชิปได้ เท่ากับครองโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อมูลในปี 2020 (พ.ศ. 2563) ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์โลกมีมูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 17 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 35 บาทต่อดอลลาร์) และคาดในปี 2035 (พ.ศ. 2578) จะไปถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ (49 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้เซมิคอนดักเตอร์เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกมากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากนํ้ามันดิบ รถยนต์ และนํ้ามันสำเร็จรูป

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

  • TSMC ไต้หวันเบอร์ 1โลก

ปัจจุบันบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกได้แก่ TSMC (ไต้หวัน), Intel Corporation (สหรัฐ), Qualcomm Incorporated (สหรัฐ), Sumsung Electronics (เกาหลีใต้) SK Hynix Inc.(เกาหลีใต้), Micron Technology, Inc.(สหรัฐ), Nvidia Corporation (สหรัฐ), Broadcom Inc. (สหรัฐ), AMD, Inc. (สหรัฐ) Texas Instruments Incorporated (สหรัฐ)และ Media Tek Inc.(ไต้หวัน) โดยข้อมูลปี 2566 ผู้ผลิต 3 อันดับแรกของโลกได้แก่ TSMC, Sumsung Electronics และ Intel Corporation ตามลำดับ

ขณะในประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทชิปหลายสิบบริษัท แบ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่สัดส่วน 20% ที่เหลือเป็นบริษัท SMEs โดยบริษัทต่างชาติ อาทิ บริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จากสหรัฐ , บริษัท NXP จากเนเธอร์แลนด์, บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ จากไต้หวัน, บริษัท Micron จากสหรัฐ, บริษัท Sony และToshiba จากญี่ปุ่น และบริษัท KEC จากเกาหลีใต้ เป็นต้น

“ชิปที่ผลิตในไทยอยู่ในระดับขั้นกลาง โดยอยู่ในอุตสาหกรรมกระบวนการตัดแผ่นเวเฟอร์ และประกอบชิป ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบต้นนํ้าและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยสินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของไทยในแต่ละปี ส่งออกมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์(กว่า 3.3 แสนล้านบาท) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แผงวงจรไฟฟ้า (IC) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ โดย 80% เป็นการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า ตลาดส่งออกหลักได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐ และสิงคโปร์”

ดึงมะกันผลิตชิปในไทย ชิงตลาดโลก 49 ล้านล้าน

  • สหรัฐยาหอมลงทุนไทย

ล่าสุดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้นำคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ (PEC) ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรชั้นนำของสหรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดี เดินทางเยือนประเทศไทย นอกจากได้เข้าพบและหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยเพื่อขยายการค้า การลงทุนระหว่างกันแล้ว ยังได้เข้าพบสมาชิกหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

สาระสำคัญส่วนหนึ่ง นางจีน่าประกาศจะให้การสนับสนุนบริษัทเอกชนของสหรัฐขยายการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในไทย จากเป็นอุตสาหกรรมที่มีดีมานด์หรือความต้องการมากที่สุดในโลก ตามการเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ ดิจิทัลอีโคโนมี และ AI โลก และเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โลกไปยังประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 14 ประเทศ (รวมไทย)

  • ชี้ 3 ปัจจัยตัวแปรลงทุนไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเข้ามาขยายการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในไทยว่า ขึ้นกับหลายปัจจัยได้แก่ 1.การพัฒนาบุคคลากรและแรงงานทักษะฝีมือ ไทยมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมชิปจากสหรัฐฯ 2.ไทยมีต้นทุนในการผลิต ทั้งแรงงาน นํ้ามันและไฟฟ้าสูงกว่าประเทศในอาเซียน ความน่าสนใจจะสู้ประเทศสมาชิกอื่นของ IPEF ได้หรือไม่ และ 3.แผนการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิดอนดักเตอร์ของจีน ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หากจีนมีแผนจะเข้ามาลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า(EV) โดยการตั้งบริษัทชิปเพื่อป้อนอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในไทย สหรัฐฯ อาจจะไม่มาลงทุน

“มองว่าเหตุผลหลักที่สหรัฐฯ อยากเข้ามาในประเทศไทย เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า และเป็นแค่ยาหอม ไม่ใช่เหตุผลหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมชิป เพราะสหรัฐฯ ต้องการลดทอนบทบาทจีนในภูมิภาคอาเซียน เพราะปัจจุบันบริษัทสหรัฐ เข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนหลายประเทศอยู่แล้ว โดยอย่างน้อยมี 8 บริษัทในสิงคโปร์ และมีการลงทุนในมาเลเซียและเวียดนาม”

อย่างไรก็ดีหากสหรัฐลงทุนตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในไทยจริง ไทยจะได้อานิสงส์ในหลายด้าน ได้แก่ จะช่วยให้ไทยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทยให้เร็วขึ้น ช่วยพัฒนาแรงงานและสถาบันการศึกษาไทยให้เข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ผลักดันไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น และมูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น”

  • บีโอไอหนุนสุดลิ่มอุตฯต้นนํ้า

ด้าน นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงการดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นนํ้า เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เข้ามาลงทุนในไทย ว่า บีโอไอ พร้อมใช้เครื่องมือส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ดึงนักลงทุนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทย และหากต้องการใช้ช่องทางของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขัน ซึ่งบีโอไอมีสิทธิประโยชน์พิเศษอยู่ ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ พร้อมพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

“เครื่องมือสำคัญต่าง ๆ ทาง บีโอไอได้เตรียมพร้อมไว้พอสมควร นโยบายของนายกรัฐมนตรี ต้องการดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรมต้นนํ้าจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย เพราะจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยมากขึ้น”

สำหรับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของบีโอไอ ที่นอกเหนือไปจากสิทธิประโยชน์พิเศษหลักภายใต้กฎหมายของบีโอไอ โดยเป็นกองทุนภายใต้พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 

โครงการที่ขอรับส่งเสริมต้องมีคุณลักษณะ เป็นกลุ่ม ๆ คือ 1. Pioneer : กิจการผลิตหรือบริการใหม่ หรือ ใช้เทคโนโลยีใหม่ หรือ ใช้ความรู้ในการผลิตขั้นสูง 2. Innovation-driven Transformation : มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญให้ยั่งยืนในประเทศและผลักดันประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม 3. Public Benefit ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคม สร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ พัฒนาบุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ และถ่ายทอดเทคโนโลยี

ส่วนสิทธิและประโยชน์ภายใต้กฎหมายฉบับนี้จะได้รับทั้งยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ ได้รับสิทธิประโยชน์ด้าน VISA และ Work Permit พร้อมทั้งมีเงินสนับสนุนจากกองทุน ซึ่งบีโอไอจะมีการพิจารณาเป็นรายโครงการที่ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่ต้องการดึงดูดเข้ามาลงทุนในไทย

  • ตั้ง“ชโยทิต”หัวหน้าทีมดึงลงทุน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องการดึงการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์จากสหรัฐ รัฐบาลได้มอบหมายให้ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ได้เป็นหัวหน้าทีม ภายหลัง ม.ล.ชโยทิต เป็นผู้ที่เดินสายลงไปหารือในรายละเอียดกับภาคเอกชนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และจากนี้อาจมีการตั้งทีมที่จะหารืออย่างใกล้ชิดเพื่อดึงเข้ามาลงทุนต่อไป

“การหารือระหว่างนายกฯ และรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลตั้ง ม.ล.ชโยทิต ไปคุยรายละเอียดของการทำงานร่วมกันกับเอกชนมาแล้ว และจากนี้จะเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดเข้ามาลงทุนในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย เพราะปัจจุบันไทยกำลังดันเมกะโปรเจกต์ เช่น แลนด์บริดจ์ รวมไปถึงส่งเสริม EV อุตสาหกรรมสีเขียว ดาต้าเซ็นเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสหรัฐฯ ได้เห็นศักยภาพของไทยแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

  • จี้คลอดยุทธศาสตร์ชิปไทย

ด้านนายวิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าจากที่ตนได้เป็นตัวแทนของ ส.อ.ท.ในการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐและคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ (PEC)โดยมีสมาชิกหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) ที่ทำธุรกิจด้านไฮเทคอิเล็กทรอนิกส์เข้าร่วม 6 บริษัทครั้งล่าสุด สาระสำคัญของการหารือในครั้งนี้เพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ซึ่งประเด็นหนึ่งที่นางจีน่าสอบถามคือไทยอยู่ในแวลูเชนส่วนใดบ้างของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก และมีจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไร (SWOT) โจทย์ของสหรัฐคือต้องการบาลานซ์ซัพพลายเชนด้านนี้

“ในเรื่องความเป็นไปได้ของการขยายการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ในไทย อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ภาคเอกชนของสหรัฐ สิ่งสำคัญคือไทยต้องมี National Semiconductor Strategy ที่ภาครัฐและเอกชนต้องไปผลักดันร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนและพัฒนา รวมถึงการวางเป้าหมายของไทยในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลกที่ชัดเจน เป็นสิ่งที่นักลงทุนสหรัฐ และต่างชาติอยากเห็นเพื่อใช้ตัดสินใจลงทุนไทยว่าจะลงทุนในสเต็ปใดของซัพพลายเชนดี ประเมินแล้วไทยอาจต้องแข่งขันกับชาติอาเซียนที่เป็นสมาชิกของอินโด-แปซิฟิกในการดึงการลงทุนจากสหรัฐ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ต่อโครงการคาดจะมีขนาดหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไป ” นายวิบูลย์ กล่าว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3976 วันที่ 21-23 มีนาคม พ.ศ. 2567