ธุรกิจโรงแรมข้องใจ เกณฑ์ปรับค่าแรง 400 บาท ไม่ถามสักคำ

03 เม.ย. 2567 | 09:24 น.
680

รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาว ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก เป็นวันละ 400 บาท ถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะกลุ่มอาชีพ ค่าแรง 400

KEY

POINTS

  • รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาว ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก เป็นวันละ 400 บาท ถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะกลุ่มอาชีพ
  • ภาคธุรกิจโรงแรมคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ เนื่องจากยังฟื้นตัวไม่เต็มที่หลังวิกฤตโควิด-19 รวมถึงขาดความชัดเจนในหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดอัตราค่าแรง และที่มาของมาตรฐานโรงแรม 4 ดาวที่จะใช้
  • ภาคธุรกิจโรงแรมเสนอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการก่อนปรับค่าแรง และควรพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงอย่างรอบด้านตามหลักเศรษฐศาสตร์และค่าครองชีพ โดยเริ่มจากกลุ่มที่ได้รับค่าแรงต่ำสุดก่อน

จากกรณี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 รับทราบมติของที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเภทกิจการโรงแรม นำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยว โดยจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในอัตราวันละ 400 บาท ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องมีการประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้ทันวันที่ 13 เมษายน 2567 นี้ เป็นของขวัญต้อนรับเทศกาลสงกรานต์

ครม. เห็นชอบ ขึ้นค่าแรง 400 บาท ในโรงแรม 4 ดาว 10 พื้นที่จังหวัด

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ถึงการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว ได้มุมมองว่า ยังไม่เหมาะสม มติปรับค่าแรงขั้นต่ำในธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาว ใน 10 พื้นที่/จังหวัดครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศ ที่มีการปรับขึ้นเฉพาะกลุ่มอาชีพ

แม้จะเข้าใจได้ถึงความจำเป็นในการดูแลคนในสังคม แต่ยังมีหลายประการที่ไม่เห็นด้วย และทำให้ธุรกิจโรงแรมรู้สึกน้อยใจ เพราะช่วงสถานการณ์โควิด ธุรกิจโรงแรมเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก่อน แต่เมื่อโควิดคลี่คลาย ธุรกิจโรงแรมกลับโดนก่อน ทั้งที่ธุรกิจโรงแรมเองก็ยังฟื้นตัวไม่ 100%

ซ้ำยังมีการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงจุดเริ่มต้นของโลซีซั่น เป็นฤดูร้อนซึ่งค่าไฟและค่าเอฟทีที่จะสูงขึ้น เมื่อต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นหมด ในช่วงที่เป็นโลซีซั่นก็อาจทำให้บางโรงแรมต้องมีการลดต้นทุนโดยการลดจำนวนพนักงานลง

สิ่งที่มีคำถามอันดับแรกคือ ที่มาของอัตราค่าแรง 400 บาท ในโรงแรมระดับ 4 ดาว 10 พื้นที่จังหวัด ที่ยังไม่มีความชัดเจนถึงหลักเกณฑ์ หรือวิธีการพิจารณาว่าเพราะเหตุใดๆจึงเลือกวิชาชีพโรงแรม แล้วต้องระดับ 4 ดาว 

เพราะตามปกติการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะคำนึงถึงค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ซึ่งไม่เท่ากัน ค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันออกไป ซึ่งครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันที่ 400 บาท ใน10 พื้นที่

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)

นอกจากการเลือกประเภทของธุรกิจแล้ว ยังมีการเจาะจงเฉพาะลงไปด้วยการกำหนดมาตรฐานของสายอาชีพนั้นๆ ทำให้ไม่สะท้อนคำว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำ จะไม่อยู่ในโรงแรมระดับ 4 ดาว

หากพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท ในภาคโรงแรม 10 พื้นที่ จะเห็นได้ว่าในส่วนของกรุงเทพฯ และภูเก็ตนั้นเท่ากับเป็นการปรับขึ้นรอบที่ 2 ของปี เท่ากับว่าค่าแรงปรับขึ้นไป 13% ในขณะที่ กระบี่ ,สงขลา ,สุราษธานี เมื่อปรับ 2 ครั้งจะเท่ากับ 17.6% จากปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูง และการปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะกลุ่มเช่นนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมถึงสร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจโรงแรมในพื้นที่อื่นๆ ว่าอาจต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงเช่นกันในอนาคต

นายเทียนประสิทธิ์ มองว่า คำว่า "ค่าแรงขั้นต่ำ"ใช้กับพนักงานแรกเข้า ซึ่งการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ก็เพื่อดูแลให้มีรายได้ที่เพียงพอกับค่าครองชีพ สามารถทำงานได้โดยมีความสุขตามอัตภาพได้ ซึ่งในวิชาชีพโรงแรมอัตราแรกเข้าของพนักงานในโรงแรมที่มีระดับต่างกัน ก็จะมีค่าแรงแรกเข้าที่แตกต่างกันด้วย

ดังนั้นค่าแรงของกลุ่มโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ย่อมไม่ใช่ค่าแรงในระดับต่ำ แต่เป็นค่าแรงที่อยู่ในระดับกลางของวิชาชีพการโรงแรมแล้ว อย่างไรก็ตามแม้โรงแรมจะมีระดับแตกต่างๆ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ลูกจ้างในทุกๆโรงแรมก็ย่อมมีค่าครองชีพที่ไม่แตกต่างกัน 

นอกจากนี้มีคำถามว่าระดับของโรงแรม 4ดาวนั้น เป็น 4 ดาวตามมาตรฐานของใคร เพราะในส่วนของสมาคมโรงแรมไทย จะมีมูลนิธิมาตรฐานโรงแรม ซึ่งผู้ที่สมัครเป็นสมาชิก จ่ายเงินค่าสำรวจเข้ามา ก็จะได้รับการจัดระดับโรงแรมจากมูลนิธิ เป็นหนึ่งในแรงจูงใจให้โรงแรมมีการพัฒนาขึ้น

ซึ่งโรงแรม 4 ดาวหลายที่ ที่ก่อนหน้านี้เป็นระดับ 3 ดาว แต่ปรากฏว่าเมื่อพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็น 4 ดาวแล้ว กลับต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ภาคการโรงแรมไม่มีมีใครอยากได้ 4 ดาว และวิงวอนด้วยว่าห้ามนำมาตรฐานออนไลน์มาใช้ เพราะจะมีผู้เดือดร้อนมากขึ้น เนื่องจากการจัดระดับไม่มีเกณฑ์มาตรฐาน

 

นอกจากนี้ภาครัฐจะมีงบประมาณสำหรับการจัดประชุมสัมนานอกพื้นที่  โดยค่าที่พักและค่าอาหารนั้นมีการปรับครั้งสุดท้ายในปี 2549 ซึ่งถ้าเทียบกับอัตราค่าแรงที่จะมีการปรับขึ้นเป็น 400 บาท จะต้องมีการปรับขึ้น 270% แต่ปรากฏว่างบในส่วนนี้ไม่ได้รับการดูแล ซึ่งจะเป็นงบที่ภาครัฐได้ใช้เพื่อสนับสนุนธุกิจโรงแรมที่ถูกกฎหมายได้ 

สำหรับข้อเสนอแนะนำต่อคณะกรรมการไตรภาคี หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะกลุ่มอาชีพ ก็ควรมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจนั้นๆด้วย เพราะในการปรับขึ้นครั้งนี้ ไม่ได้มีตัวแทนจากภาคธุรกิจโรงแรมเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยเลย ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

และควรพิจารณาอย่างรอบด้านในการพิจารณาขึ้นค่าแรงอย่างมีหลักเกณฑ์ คำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ และเรื่องของค่าครองชีพของลูกจ้างทุกคน ในทุกอุตสหกรรม เพราะคำว่าค่าแรงขั้นต่ำ ควพิจารณากลุ่มที่ได้ค่าแรงต่ำที่สุดก่อน และเมื่อค่าแรงแรกเข้าต่ำสุดได้รับการขยับขึ้นแล้ว ก็จะทำให้ค่าแรงของกลุ่มอื่นๆที่มีทักษะแรงงานมากขึ้น ขยับขึ้นตามไปด้วย

สำหรับมุมมองว่าภาคโรงแรมมีรายได้มาก จึงพิจารณาขึ้นค่าแรงนั้น ต้องไม่ลืมว่าเมื่อโรงแรมมีรายได้มาก ก็ย่อมจ่ายภาษีมาก และรัฐบาลสามารถนำเอาภาษีเหล่านั้นไปบริหารจัดการเพื่อดูแลลูกจ้างกลุ่มนี้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บรรเทาภาระค่าครองชีพ

โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนให้ภาคโรงแรมด้วยการปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะกลุ่มเช่นนี้ เพราะในธุรกิจย่อมมีความสมดุลเกิดขึ้นเอง หากโรงแรมมีรายได้มาก นั่นก็เพราะมีจำนวนลูกค้ามาก ก็ย่อมต้องมีจำนวนพนักงานที่เพียงพอ ทางโรงแรมก็ต้องมีค่าแรง ค่าเซอร์วิสชาร์จ และสวัสดิการที่จูงใจ ดังนั้นทุกอย่างจึงมีสมดุลอยู่แล้ว สำหรับภาคธุรกิจโรงแรม