จับตาราคายางพาราพุ่ง100 บาท พื้นที่ปลูก 3 ประเทศลด อุตฯล้อยางต้องการสูง

27 มี.ค. 2567 | 10:37 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2567 | 10:50 น.
11.1 k

ชาวสวนยิ้มออก ราคายางพาราขยับ 95 บาท/กก. ผู้ส่งออกเชื่อจะพุ่งถึง100 บาท เหตุอุตสาหกรรมล้อยางความต้องการสูง ขณะไทย มาเลย์ และอินโดนีเซีย หันมาปลูกปาล์มแทนยางมากขึ้น

นายวิรัตน์  อันตรัตน์ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ชาวสวนยางพาราในภาคใต้ หยุดกรีดหรือปิดกรีดยาง ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปลายเดือนเมษายน นี้  หากปีใดฝนตกเร็วก็จะทำการกรีดยางทันที   ถึงแม้ยางและน้ำยางสดจะมีราคาสูงขึ้น  โดยยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 95 บาท  น้ำยางสดกิโลกรัมละ 85 บาทก็จริง แต่ไม่มีน้ำยางสดหรือยางแผ่นออกสู่ตลาด    ที่ต้องหยุดกรีดยางในหน้าแล้ง เพราะเกรงมีผลกระทบกับต้นยางพารา   

ในส่วนของราคายางพาราที่มีการขยับสูงขึ้น   ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้โดยขยับมาจากกิโลกรัมละ 50 บาทจนมาถึงปัจจุบันนี้  กิโลกรัมละ 95 บาท  สาเหตุที่ราคาสูงขึ้นอาจเป็นช่วงที่มีการหยุดกรีดยาง ไม่มีน้ำยางและยางแผ่นออกสู่ตลาด  ประกอบกับยางในสต๊อกที่อยู่ในสหกรณ์ต่างๆไม่มีหรือมีจำนวนน้อย    อีกทั้งประเทศผู้ซื้อมีการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ยางมีราคาขยับสูงขึ้น  ทุก ๆ ปีที่ผ่านมาถึงแม้จะเป็นช่วงปิดกรีด  แต่ราคายางไม่ได้ขยับสูงขึ้นยังอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 40 กว่าบาทถึง 50 บาท  แต่ในปีนี้เป็นที่น่าสังเกตราคายางมีการขยับตัวสูงขึ้นจนถึงกิโลกรัมละ 95 บาท  
 

ทั้งนี้ ยางพาราที่มีการขยับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรัฐบาล โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ทำงานจริงจังในการปราบปรามจับกุมผู้ที่ลักลอบนำยางแผ่นและเศษยาง จากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ไทย-เมียนมา จังหวัดกาญจนบุรี และระนอง ลักลอบนำยางชนิด STR เข้ามาขายในตลาดเมืองไทย ทำให้ยางในเมืองไทยจำนวนเพิ่มขึ้น ราคายางจึงไม่สูง ไม่เป็นไปตามกลไกของตลาดทำให้ราคาตกลดลง  เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส  วางนโยบายปราบปรามยางพาราเถื่อน ลักลอบนำเข้ามาขายในเมืองไทยไม่ได้  เมื่อไม่มียางในท้องตลาด ราคายางจึงขยับสูงขึ้น 

จับตาราคายางพาราพุ่ง100 บาท พื้นที่ปลูก 3 ประเทศลด  อุตฯล้อยางต้องการสูง

สำหรับราคายางพาราในช่วงหยุดกรีดยางปีนี้ ยางรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 95บาท  ยางแผ่นดิบ 90 บาท และน้ำยางสด กิโลกรัมละ 85บาท ในขณะนี้ ประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ไทยผลิตยางพารามากสุด ส่วนประเทศมาเลเซีย กลายเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำยางสดไปแล้ว เพราะพบว่า มาเลเซียซื้อน้ำยางสดจากประเทศไทยโดยเฉพาะน้ำยางที่ผลิตจากภาคใต้เข้าไปมาเลเซียปีละ 500,000 ถึง 600,000 ตัน เพื่อนำน้ำยางสดไปปั่นเป็นน้ำยางข้น ส่งไปขายต่างประเทศหรือนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ 
 

นายวิรัตน์   กล่าวอีกว่า  ตรังเป็นจังหวัดกำเนิดในการปลูกยางพารา ขณะนี้พบว่ามีพื้นที่ปลูกยางพาราเหลือประมาณ 1,300,000 ไร่และอยู่ในช่วงให้ผลผลิตประมาณ 1,100,000 ไร่ผลผลิตต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตันต่อปี  ในหนึ่งปีจะกรีดยางได้ประมาณ 150 วัน   สวนยางกรีดยางออกมา 100% ขายเป็นน้ำยางสด 80% อีก 20% ผลิตยางแผ่นชั้นดิบ  

หลังเปิดการกรีดยางในฤดูกาลนี้ ราคาก็ยังไม่ลงเพราะผู้ผลิตยางไม่มีสต๊อก  โรงงานก็ไม่มีน้ำยางหรือยางแผ่นในสต๊อก  ขณะที่ต่างประเทศ ผู้ใช้ยางในอุตสาหกรรมก็ขาดแคลนยางเช่นกัน ส่วนผู้ชื้อยาง คือ จีน  ญี่ปุ่นและยุโรป  ขณะนี้มีความต้องการใช้ยางและขาดแคลนยางในสต๊อกเช่นกัน

ยางพารา

แหล่งข่าวในบริษัทส่งออกยางพาราไทยกล่าวว่า  สถานการณ์ราคายางในขณะนี้คาดว่าราคาจะสูงถึงประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม จากสาเหตุที่ประเทศต่างๆที่เป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมยางรถยนต์  เริ่มใช้ยางกันมากขึ้นและเริ่มจะขาดแคลนยางสำหรับอุตสาหกรรม   ดังนั้น บริษัทผู้ส่งออกยางพาราต้องเร่งซื้อยาง น้ำยาง เพื่อส่งให้ลูกค้า  

สถานการณ์เช่นนี้จะไม่มีการขายยางล่วงหน้าเหมือนในอดีตที่ผ่านมาเพราะมีแนวโน้มราคาจะสูงขึ้นอันเนื่องมาจากประเทศผู้ผลิตยางพารา เช่น ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลิตยางน้อยลงโดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซียหันไป ปลูกปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น  จึงมีการโค่นยางพาราและปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่ม ในส่วนของประเทศไทยนั้นจะพบว่าเริ่มมีการโค่นยางและปลูกปาล์มน้ำมันและสวนทุเรียนมากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้นจึงทำให้ผลผลิตของยางพาราออกสู่ตลาดกันน้อยแต่ความต้องการใช้ยางของผู้ผลิตอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่นมีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นเพราะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มจะดี ดังนั้นเชื่อว่าราคายางในปี 2567 มีแนวโน้มที่สูงขึ้นไปอีก

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3978 วันที่  28 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2567