ชาวสวนระนองเร่งกรีดยาง หลังราคาพุ่งทะลุ 90 บาท/กก.

15 มี.ค. 2567 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2567 | 13:15 น.
2.0 k

ชาวสวนระนองยอมเปิดหน้ายางอีกครั้ง หลังยางแผ่นรมควันพุ่งทะลุ 90 บาทต่อกิโลกรัม สูงสุดในรอบ 85 เดือน ขณะ“ธรรมนัส” เอาจริง สั่งกวาดล้างการลักลอบขนยางเถื่อนจากประเทศเมียนมาเข้าไทย


จากสถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันดีดตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยราคายางที่ซื้อขายผ่านสำนักงานตลาดกลางยางพารา ของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) พุ่งทะลุ 90 บาทต่อกิโลกรัมไปแล้วนั้น โดยราคาซื้อขายยางแผ่นรมควัน อยู่ที่ 90.09 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 85 เดือน (7 ปี 1 เดือน) โดยปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางแนวโน้มขาขึ้นต่อไป

ผู้สื่อข่าว "ฐานเศรษฐกิจ"ลงพื้นที่สำรวจการกรีดยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ พบว่าเกษตรกรชาวสวนยางบางส่วนยอมออกมาเปิดหน้ายางเพื่อกรีดยางอีกครั้งหลังจากหลายสวนได้ปิดการกรีดยางไปบ้างแล้ว เนื่องจากเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ว ยางจะเริ่มผลัดใบ ทำให้มีน้ำยางน้อยกว่าปกติ 

จากการพูดคุยกับนายสมชาย สุขบาย เกษตรกรชาวสวนยาง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ยอมรับว่า จากราคาซื้อขายยางพาราที่มีราคาสูง เมื่อเทียบกับช่วง 4-5 ปีผ่านมา ทำให้ชาวสวนยางยอมเปิดหน้ายังเพื่อกรีดยางอีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้ราคายางพาราพุ่งสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแล ตรวจเข้มเรื่องการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนไม่อนุญาตให้นำเข้ายางจากต่างประเทศ ส่งออกไปยังประเทศอื่น 

ชาวสวนระนองเร่งกรีดยาง หลังราคาพุ่งทะลุ 90 บาท/กก.

จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรฯดังกล่าว ในส่วนของจังหวัดระนอง  ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาทั้งทางบกและทางทะเล รวมระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร นายราชัน  มีน้อย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนจังหวัดระนอง  โดยมีเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  
ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กอ.รมน.จังหวัดระนอง หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 ศุลกากรระนอง พาณิชย์จังหวัดระนอง ตำรวจภูธรจังหวัดระนอง  เป็นต้น  ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการร้านรับซื้อยางพารา และตรวจสอบการซื้อขายยางพารา  รวมทั้งตรวจติดตาม จับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำยางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง
 

จากการจับกุมผู้กระทำผิด พบว่าในปี 2565 ( ม.ค.-ธ.ค.) สามารถจับกุมผู้กระทำความผิด พร้อมยึดของกลางยางพาราแผ่น 124,943 กิโลกรัม ยางพาราก้อนถ้วย 6,350 กิโลกรัม  ,ปี  2566  (ม.ค.-27 ก.ย.) จับกุมผู้กระทำความผิดจากการลักลอบขนยางพาราแผ่น 108,400 กิโลกรัม ยางพาราก้อนถ้วย 1,000 กิโลกรัม 

จะเห็นได้ว่า แม้หน่วยงานรัฐบูรณาการตรวจค้นและจับกุม ยังพบว่ามีผู้ลักลอบขนยางพาราเข้าชายแดนไทยฝั่งระนองต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 19  กุมภาพันธ์  2567 ที่ผ่านมา  มีการจับกุมขนยางพาราแผ่นหนีภาษี 1,650 กิโลกรัม ข้ามแม่น้ำกระบุรี มาส่งฝั่งไทยบริเวณพื้นที่บ้านทรายแดง ต.ทรายแดง อ.เมือง จ.ระนอง

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์  ที่ผ่านมา มีการจับกุมขบวนการลักลอบขนยางพาราเถื่อนเข้าทางชายแดนระนอง น้ำหนักรวม 8,600 กิโลกรัมและล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม  ที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ลักลอบนำยางพาราแผ่นรวมประมาณ 2,110 กิโลกรัม  จากประเทศเมียนมา มายังพื้นที่บ้านลำเลียง ต.บางใหญ่ อ.กระบุรี จ.ระนอง

จากปัญหาการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าชายแดนไทย โดยเฉพาะยางพาราจากประเทศเมียนมาที่มีราคาต่ำกว่าราคายางไทย ที่ผ่านมามีการสวมสิทธิยางไทย สร้างความเสียหายปีละกว่า 100 ตัน ทางการเมียนมาได้ประสานมายังทางการไทยให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้จังหวัดระนองและประเทศไทยเป็นทางผ่าน เพื่อนำยางพาราแผ่นคุณภาพ ส่งไปยังประเทศมาเลเซีย

โดยปัจจุบันได้มีการทดลองนำผ่านยางพาราผ่านมาทางจังหวัดระนองเป็นผลสำเร็จแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งการที่จังหวัดระนองดำเนินการด้วยช่องทางที่ถูกต้อง จะแก้ปัญหาการลักลอบ นำยางพาราผิดกฎหมายเข้าสู่ประเทศไทยได้ในท้ายที่สุด


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3975 วันที่  17 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2567