เปิดผังทอท. ทุ่ม 3.6 หมื่นล้าน อัพเกรดสนามบินดอนเมือง ฮับโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ส

17 มี.ค. 2567 | 21:32 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2567 | 21:32 น.
3.9 k

เปิดผังทอท. ทุ่ม 3.6 หมื่นล้านบาท อัพเกรดสนามบินดอนเมือง ฮับโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ส เปลี่ยนดอนเมืองเป็นสนามบินแบบ POINT-TO-POINT เป็นสนามบินหลักสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนผลักดันให้ไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub)

การผลักดันให้ไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) เป็น 1 ในวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะยกระดับให้ไทยก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค หนึ่งในนั้น คือ อัพเกรดสนามบิน ดอนเมือง รับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 50 ล้านคน เพื่อเป็นสนามบินหลักสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ในภูมิภาค เปลี่ยนสนามบินดอนเมืองให้เป็นสนามบินแบบ POINT-TO-POINT

การที่รัฐบาลมีแผนจะเปลี่ยน “สนามบินดอนเมือง” ให้เป็นสนามบินแบบ “POINT-TO-POINT” หรือการให้บริการเที่ยวบินแบบจุดต่อจุด (ไม่มีการเปลี่ยนเครื่องบินหรือต่อเที่ยวบิน) วัตถุประสงค์หลัก คือผลักดันให้สนามบินดอนเมืองเป็นฮับการบินของสายการบินต้นทุนตํ่าหรือ “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ส” ทั้งเที่ยวบินในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศนั่นเอง

การอัพเกรดสนามบินดอนเมือง บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะใช้งบในการลงทุนกว่า  36,829 ล้านบาท ในการพลิกโฉมสนามบิน ดอนเมือง เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี ให้รองรับผู้โดยสารได้อีก 23 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573

โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ด้านทิศใต้ของสนามบินดอนเมือง พื้นที่ 162,560 ตารางเมตร (ตร.ม.) เป็น อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารได้อีก 23 ล้านคนต่อปี และมีการก่อสร้าง Contact gate ทั้งหมด 13 เกท เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ที่จะย้ายมาจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1

แผนผังอัพเกรดสนามบินดอนเมือง (ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3)

โดยจะสร้างเป็นอาคารสูง 5 ชั้น ชั้นใต้ดิน เป็นงานระบบ ชั้น G เป็นสาย พานรับกระเป๋าผู้โดยสารขาเข้าชั้น 2 เป็นชั้นรองรับผู้โดยสารขาเข้าจาก Gate ตม. ชั้น 3 เป็นชั้น Check in ตม. และร้านค้า ดิวตี้ฟรีฝั่ง airside ชั้น 4 เป็นชั้นลอยรองรับร้านอาหาร และบริการของผู้โดยสาร ฝั่ง landside จะแล้วเสร็จและเปิดบริการได้ปลายปี 2570

อีกทั้งเมื่อเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 แล้ว ทอท. จะปิดปรับปรุงอาคาร 1 ซึ่งปัจจุบันให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อจะรวมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ปัจจุบันให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศอยู่ เปลี่ยนให้เป็นอาคารผู้โดยสารโดเมสติก ก็จะทำให้เป็นการเพิ่มพื้นที่ให้บริการภายในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.1 แสนตร.ม. เป็น 2.3 แสนตร.ม. สามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ประมาณ 27 ล้านคนต่อปี จะแล้วเสร็จและเปิดบริการได้ประมาณปี 72

อีกทั้งเมื่อผู้โดยสารมากขึ้น ทอท.มีแผนที่จะสร้าง Junction Building เพื่อเติมร้านค้า ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยว ทำให้สนามบินดอนเมืองเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ ที่รวมของฝาก และ OTOP จากทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มพื้นที่จอดรถให้จอดได้มากถึง 7,600 คันด้วย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าภายในปี 2572

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.กล่าวว่า ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแบบ คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 โดยในส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ จะใช้พื้นที่อาคารโดเมสติกเดิม ทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ และสร้างหลุมจอดให้เพียงพอ จากนั้นจะปิดอาคารเทอร์มินอล 1 ชั่วคราว เพื่อปรับปรุงและยุบรวมกันเป็นเทอร์มินอล 1-2 ตั้งเป้ารองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ในส่วนการสร้างอาคาร Junction Terminal ที่จะเป็นอาคารที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ระหว่างจุดที่เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อเข้าระหว่างอาคารระหว่างประเทศและในประเทศ โดยจะเป็นอาคารให้บริการเชิงพาณิชย์ มีร้านค้า ร้านอาหาร ให้ใช้บริการก่อนไปบิน โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนสัมปทาน 30 ปี และยังมีแผนการทำสะพานทางออกเชื่อมต่อกับโทล์เวย์ดอนเมืองได้เลย เพื่อลดความแออัดจากรถที่ออกจากสนามบินไปสู่ถนนวิภาวดีรังสิตอีกด้วย