ทอท.ยกโมเดลชิโตเสะ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รับขยายสนามบินสุวรรณภูมิ

15 ก.พ. 2567 | 13:54 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 14:14 น.
1.1 k

สนามบินชิโตเสะ เป็นสนามบินใหญ่ที่สุดของฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น มีจุดเด่นด้านการให้บริการที่ผสมผสานการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้อย่างลงตัว ทอท. จึงมีแผนจะยกโมเดลของสนามบินแห่งนี้มาต่อยอดเพิ่มรายได้รับการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามแผนแม่บทที่จะเกิดขึ้น

สนามบินชิโตเสะ จัดว่าเป็นท่าอากาศยานภูมิภาคอันดับ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น ซึ่งสนามบินแห่งนี้ อยู่ในสเกลเดียวกับสนามบินภูเก็ต หรือสนามบินเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว มีเที่ยวบินรวมกว่า 500 เที่ยวบินต่อวัน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 100 เที่ยวบินต่อวัน และเที่ยวบินในประเทศ 400 เที่ยวต่อวัน รองรับผู้โดยสารได้ 6.5 หมื่นคนต่อวัน เปิดบริการ 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้พื้นที่ของสนามบินแห่งนี้ มี 1 รันเวย์ 2 เทอร์มินัล พื้นที่ 3.2 แสนตรม. เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 7 หมื่นตรม. หลักๆ จะประกอบไปด้วย โรงแรม, ออนเซ็น, โรงภาพยนตร์, ร้านค้า และร้านอาหารกว่า 220 ร้านนอกจากนี้ยังได้นำ “Soft Power” ของญี่ปุ่นมาโชว์เคสในสนามบินด้วย ทำให้บรรยากาศในการเดินทางก็เหมือนกับอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรืออยู่ในพื้นที่ศูนย์อาหารมากกว่ารู้สึกว่าอยู่ในสนามบินตลอดเวลา

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า สนามบินชิโตเสะ เป็นสนามบินที่บริหารโดยเอกชน 100% จาก 71 บริษัทที่มาร่วมเป็นคอนซอเตียม ภายใต้สัมปทาน 30 ปี โดยมีรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น เป็นเจ้าของอาคารผู้โดยสารและที่ดิน

กีรติ กิจมานะวัฒน์

จุดเด่นของสนามบิน แห่งนี้ คือ การผสมผสานพื้นที่การให้บริการสนามบิน และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ไม่ได้สร้างเพื่อมุ่งเน้นกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารและทำให้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับพื้นที่เหล่านั้นด้วย อาทิ คิตตี้เวิลด์ที่เด็กๆ เข้า ไปเล่นได้ แอนิเมชั่นการ์ตูนต่างๆ อย่างโดราเอมอน

รวมถึงการนำ Soft Power ที่เป็นของดีในพื้นที่ มาโชว์เคสในสนามบิน อาทิ โรงงานขนาดย่อมๆ ของ “Royce” ซึ่งเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตที่ดังที่สุดในฮอกไกโด การจัดโซนราเมง สตรีท ที่นำร้านราเมงที่เป็นร้านโลคัล มาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดี ที่มีการนำเอาสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ ญี่ปุ่นมาโชว์ให้แก่ผู้โดยสารตั้งแต่อยู่ที่เทอร์มินัล

การพัฒนาพื้นที่ของสนามบินชิโตเสะ โรงงานขนาดย่อมๆ ของ “Royce” ในสนามบิน ทอท.ยกโมเดลชิโตเสะ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รับขยายสนามบินสุวรรณภูมิ

จุดเหล่านี้ทอท.มองว่าสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินสุวรรณภูมิได้ ซึ่งหากเทียบกันปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีปริมาณผู้โดยสารค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่เรามี โดยสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารใช้บริการ 65 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ 450,000 ตารางเมตร

ขณะที่สนามบินชิโตเสะ มีผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ 320,000 ตารางเมตร ซึ่งผู้โดยสารของสนามบินชิโตเสะ น้อยกว่าเราถึง 3 เท่า แต่พื้นที่ของเขาน้อยกว่าเราแค่ 20% ทำให้เรามองเห็นว่าสิ่งที่สนามบินสุวรรณภูมิควรต้องมีมากกว่านี้ คือ การเพิ่มพื้นที่ให้ผู้โดยสารให้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร

โดยตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ทอท.จะขยายศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทในระยะ 10 ปีข้างหน้านี้ใหม่ (ปี 68-78) ที่จะเพิ่มการรองรับสูงสุดจากเดิม 120 ล้านคนต่อปี เป็น 150 ล้านคนต่อปี

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก การพัฒนาส่วนต่ออาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ และหรือการพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ซึ่งที่จะเห็นพื้นที่เพิ่มขึ้นได้ก่อน คือ ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร ด้านทิศตะวันออก จะเปิดประมูลในเดือนพ.ค.นี้ ลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปีครึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570

การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ

หลังจากส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออกแล้วเสร็จ ก็จะทำให้เรามีพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากพื้นที่หลักจะเป็นกระบวนการเช็คอิน ตรวจค้นผู้โดยสาร และตรวจคนเข้าเมือง เราก็สามารถเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้เพิ่มขึ้นเหมือนสนามบินชิโตเสะ ไม่ว่าจะเป็นการดึงเอาสตรีทฟู้ด ดังๆ พื้นที่สำหรับเด็ก โรงแรม เดย์รูม ต่างๆ มาเปิดให้บริการที่สุวรรณภูมิ

อีกทั้งทอท.ยังมองว่าในส่วนของแผนขยายสนามบินดอนเมืองดอนเมืองเฟส 3 มูลค่า 36,000 ล้านบาท ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแบบ คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงปลายปี 2567 หรือ ต้นปี 2568 ในส่วนของการสร้างอาคารในส่วน Junction Terminal ที่จะเป็นอาคารที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทอท.อาจใช้แนวคิดจากการพัฒนาพื้นที่ของสนามบินชิโตเสะมาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนนี้ ได้ด้วยเช่นกัน