ITD ติดหล่ม ลามรับเหมาแสนล้าน แบกหนี้เงินกู้ -ค้ำประกันแบงก์อ่วม

13 มี.ค. 2567 | 10:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2567 | 15:29 น.
3.0 k

ยักษ์รับเหมา “ITD” ติดหล่มสภาพคล่อง หนี้เงินกู้ระยะสั้น-ระยะยาว หนังสือค้ำประกันแบงก์ สูงถึง 1.2 แสนล้าน บิ๊กโปรเจ็กต์รัฐ แสนล้านน่าห่วง วงการก่อสร้างสะเทือน ซับคอนแทรค-แรงงาน-พนักงาน ร้องวุ่น ไม่จ่ายเงิน ขณะกระทรวง แรงงานโดดอุ้ม

 

สัญญาณเตือนถึงสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ยักษ์รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของไทย เริ่มสั่นคลอน มาตั้งแต่ปี2565 หลังประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี2562 จากสถานการณ์โควิด และมีชนวนมาจาก การเข้ารับสัมปทานในอภิมหาโปรเจ็กต์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทวาย (DSEZ) ประเทศเมียนมา เมื่อปี 2553 เพื่อพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม27ตารางกิโลเมตร โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และในครั้งนั้นมีเม็ดเงินจมหายไปในโครงการดังกล่าวมากถึงเกือบ8,000 ล้านบาท
 

โปรเจ็กต์ยักษ์ทวายโดนเท

เบื้องลึก ITD เชื่อมั่นว่ารัฐบาลของไทยในยุคนั้น จะเป็นผู้ร่วมทุน แต่ในที่สุดแล้ว กลับกลาย ต้องไปอย่างโดดเดี่ยว กระทั่งประสบปัญหาโครงการล่าช้า ประกอบกับ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา จึงเป็นสาเหตุให้ถูกบอกเลิกสัญญา เพื่อนำโครงการไปให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ พร้อมทั้งมีรายงานว่า อาจถูก ริบเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือ ที่ลงทุนไปกว่า2,000 ล้านบาท ให้ตกเป็นของรัฐบาลเมียนมา

 

ต่อมาในสมัยรัฐบาล “ประยุทธ์” ITD ได้ขอความช่วยเหลือ ผ่าน กระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอให้เจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาหลังเกิดรัฐประหาร แต่ในที่สุดแล้วเรื่องได้เงียบหายไป เพราะการสู้รบที่รุนแรงบานปลายใน เมียนมาเอง ยังไม่รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ อย่างเหมืองแร่โปแตช ที่ ต้องชำระเงิน 5,200 ล้านบาท ก่อนเริ่มดำเนินโครงการจริง และยังมีโครงการโมซัมบิก อีก2,600 ล้านบาท เป็นต้น และคดีเสือดำ ที่ทำให้เสาหลัก ITD ผู้มากคอนเน็คชั่นต้องถูกจองจำ ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่รายนี้ เกิดสะดุดครั้งสำคัญ

 อย่างไรก็ตาม ความมุ่งเน้นรับงานทุกงาน เพื่อหล่อเลี้ยงองค์กรไม่ว่าจะเป็นประมูลงานขนาดเล็กที่ต้องลงไปแข่งขันกับ ผู้รับเหมารายกลาง รายเล็ก รวมถึง การตัดราคาประมูลให้ต่ำลงเพื่อให้ได้งาน และนั่นหมายถึงการแบก โครงการ จนกลายเป็นความเสี่ยงทางการเงินที่เป็นสัญญาณอันตราย

 

เลื่อน จ่ายหุ้นกู้ ออกไปอีก2ปี สัญญาณขาดสภาพคล่อง

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ITD ได้ขอเลื่อนการจ่ายหุ้นกู้ 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี โดยเป็นหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น มูลค่า 5,670 ล้านบาท ปี 2568 มูลค่า 6,000 ล้านบาทและปี 2569 อีก 2,785 ล้านบาท เพื่อเป็นการพักจ่ายเงินต้น แต่ยังคงจ่ายดอกเบี้ยตามปกตินั้น สะท้อนว่า ITD กำลังขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ขณะเดียวกัน หากดูในงบทางการเงินจะพบว่า ITD ยังมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นและระยะยาวจากสถาบันการเงิน และหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยสถาบันการเงินในนามบริษัทและบริษัทย่อย มูลค่ารวมกันสูงกว่า 120,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ITD ยังถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เนื่องจากบริษัทไม่ส่งงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยราคาหุ้นปิดซื้อขายที่ระดับ 0.85 บาทต่อหุ้น


ลามเงินเดือนพนักงาน

มรสุม ถาโถม ITD รุนแรงขึ้น กระทั่งลามลึกถึงการเลื่อนจ่ายเงินเดือนพนักงาน หรือ จ่ายไม่ตรงเวลา และเป็นกระแสดังในโลกโชเชียล “ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามพนักงาน ว่าเกิดปรากฏการณ์เลื่อนจ่ายเงินเดือนหรือ จ่ายเงินเดือนล่าช้าจริงหรือไม่ซึ่งได้รับคำตอบว่าเป็นเรื่องจริงโดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันและ ไม่ทราบมาก่อนว่าบริษัทมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง โดยแทบทุกรายมีภาระผ่อนบ้านผ่อนรถยนต์ แนวทางแก้ปัญหา คือ ใช้เงินออมของตนเองไปพลางก่อน ขณะบางรายขอหยิบยืมเงินทางครอบครัว แต่หากเป็นลักษณะนี้นานๆ มองว่าจะทำให้ พนักงานเดือดร้อน บ้าน รถยนต์อาจถูกยึดได้ ทั้งนี้พนักงานส่วนใหญ่ยังมีความหวังเพราะเป็นบริษัทใหญ่มีชื่อเสียงและไม่ต้องการตกงานหรือถูกเลย์ออฟ


ซับคอนแทรค ร้องจ่ายเงินช้า

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง กล่าวว่า การเบิกจ่ายให้กับ ผู้รับเหมาช่วง หรือ ซับคอนแทรค  มีความล่าช้ามานาน ซึ่งทางITD ทราบดีมาโดยตลอด เพราะต้องนำเงินไปหมุน ให้กับ โครงการ เก่า ที่ติดค้างก่อนนี้ ซึ่งกลุ่มซับคอนแทรค ต้องยอมรับ เห็นว่า เป็นบริษัทใหญ่ มองว่า ในที่สุดแล้ว น่าจะมีเงินจ่ายให้

“โดยเนื้องาน ของรัฐอาจไม่มีปัญหา แต่ เมื่อได้รับเงินค่างวดงานจากรัฐแล้ว กลับ เบิกจ่ายให้กับ ซับคอนแทรคล่าช้าหรือมีการดึงเรื่องออกไปเนื่องจาก ต้องนำไปจ่ายให้กับ รายที่ค้างจ่ายมาก่อนหน้านี้ หรือช่วง8เดือนก่อนหน้า”

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ ITD มีปัญหาเช่นนี้ เพราะโครงการทวาย ประเทศเมียนมา และมีปัญหากรณีรัฐบาลชุดที่ผ่านมาไม่ตรวจรับงานโครงการในมือของITD มูลค่ามากถึง กว่า 7-8,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดเพราะเหตุใด

 

จี้รัฐอุ้มITD ผวาพังทั้งระบบ

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างกล่าวต่อว่า ปมร้อนดังกล่าว รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีควรเข้ามารับผิดชอบ ตรวจสอบเบื้องลึกของงาน และเป็นตัวกลางกรณีบริษัทดังกล่าวอาจมีปัญหาสภาพคล่องจริงๆ เพราะในที่สุดแล้วรัฐเป็นฝ่ายเสียหายมากที่สุด เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจหากโครงการ มีความล่าช้า ไม่แล้วเสร็จ และอาจลุกลามบานปลาย มีความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งสถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ ซับคอนแทรค วัสดุก่อสร้าง แรงงาน ฯลฯ ขณะสภาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้ควรเป็นตัวกลาง เพื่อนำเงินค่างวดจากภาครัฐส่งตรงถึงซับคอนแทรคโดยตรงโดยไม่ให้ผ่านITD จะเหมาะสมกว่า อย่ารอให้ปัญหาเกิดแล้วมาแก้ไข
 

ทางคู่ “เด่นชัย -เชียงของ” ยังล้ำ

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถาม ไปการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ระบุว่า ITD อยู่ระหว่างก่อสร้าง โครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของรฟท. 5 สัญญา ทั้งรถไฟทางคู่และ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรก โดยเฉพาะ รถไฟทางคู่ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ITD ก่อสร้างไปแล้ว 6% ซี่งถือว่าเร็วกว่าแผนที่วางไว้ ส่วนเรื่องสภาพคล่องเป็นเรื่องภายในองค์กร ตราบใดที่ ยังดำเนินการก่อสร้างได้ตรงตามสัญญาในทางกลับกันรฟท.ไม่นิ่งนอนใจ โดยจะเฝ้าติดตามสถานะสภาพคล่องของบริษัทดังกล่าวต่อเนื่องไม่ให้มีผลกระทบต่อโครงการ

“ปัจจุบันยังมีสัญญาณไฟเขียวอยู่ หากมีสัญญาณที่ก่อสร้างล่าช้ารฟท.ต้องเข้าไปเร่งรัดติดตาม แต่ขณะนี้ยังปกติ ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น”


ปัญหายังไม่เกิด คมนาคมเฝ้าระวังบิ๊กโปรเจ็กต์

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรณีITD ประสบปัญหาสภาพคล่องจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ล่าช้า นั้น ปัจจุบันเอกชนมีโครงการของทล. ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 3 จังหวัดสมุทรสาคร 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้วช่วงเอกชัย- บ้านแพ้ว ตอน 7

“ทั้ง 2 งานที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างพบว่างานยังเดินหน้าตามปกติ แต่ล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย ปัจจุบันกรมฯติดตามงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่มีปัญหาที่ซีเรียส โดยเอกชนยังคงมีสิทธิ์เข้าประมูลงานของทล.”

ส่วนสาเหตุที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 3 จังหวัดสมุทรสาคร คืบหน้า 91.65% ล่าช้ากว่าแผน 8.34% เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างทับซ้อน ซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จ อีกทั้งผู้รับจ้างได้รับผลกระทบในการปฏิบัติงานจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การขยายอายุสัญญาโดยคิดค่าปรับเป็น 0% ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.2566-15 พ.ย.2567

ขณะที่โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้วช่วงเอกชัย- บ้านแพ้ว ตอน 7 คืบหน้า 31.50% ล่าช้ากว่าแผน 13% เนื่องจากติดขัดระบบสาธารณูปโภคสายไฟฟ้าใต้ดิน เบื้องต้นการไฟฟ้าฯได้ดำเนินการรื้อย้ายแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มต้นสัญญา 1 ก.พ.2565-14 มิ.ย.2568

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากทพ.ได้มีการเชิญเอกชนหารือในสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเร่งรัดการเปิดให้บริการของโครงการทางด่วนพระราม 3 ให้ทันภายในเดือนมิ.ย. 2568 เบื้องต้นเอกชนจะเร่งดำเนินการให้ทันตามแผน

“ยืนยันว่าปัญหาของเอกชนจะไม่กระทบต่อโครงการของกทพ. เพราะในปัจจุบันกทพ.ชำระเงินตรงตามกำหนดมาตลอดหากปัญหาของเอกชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะส่งให้โครงการล่าช้าจะรับมืออย่างไรนั้น หากเกิดปัญหาจริง เบื้องต้น กทพ.จะเรียกผู้บริหารมาหารือโดยตรง เพราะเขาควรชำระเงินให้ตรงเวลาไม่ใช่นำเงินไปดำเนินการในเรื่องอื่นๆจนทำให้โครงการเสียหาย ซึ่งการชำระเงินตรงเวลาของกทพ.จะต้องสอดรับกับงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้เอกชนยังมีสิทธิ์ที่จะประมูลโครงการอื่นๆได้ เพราะการที่เข้าร่วมประมูลได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์การทำงานของเอกชน”

แหล่งข่าวจากรฟท. กล่าวว่า ประเด็นที่เอกชนชำระเงินค่างวดล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อโครงการรฟท.ในปัจจุบันหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พบปัญหาในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) สัญญา 3-1 เพราะรฟท.เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินตรงตามกำหนดมาตลอด เนื่องจากแคชโฟลว์ในโครงการไฮสปีดฯ ของรฟท.พยายามดำเนินการให้ใกล้เคียงกับแผนงานที่เอกชนดำเนินกา

 “ปัจจุบันเอกชนยังไม่ได้มีการหารือกับรฟท.ในประเด็นที่ติดปัญหาการขาดสภาพคล่อง เพียงแต่ว่าในช่วงที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายเงินล่าช้า เพราะประมาณการณ์ไม่ค่อยดี แต่ขณะนี้เริ่มมีการทยอยเบิกจ่ายเงินตามระบบแล้ว ซึ่งรฟท.พยายามเร่งรัดตามกระบวนการภายในให้เร็วขึ้น ทั้งนี้รฟท.ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ว่าปัญหาของเอกชนจะกระทบต่อโครงการของรฟท.มากน้อยแค่ไหน หากเอกชนยังมีคุณสมบัติครบและไม่เป็นผู้ล้มละลายก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการในอนาคตได้”
 

12 โปรเจ็กต์ แสนล้าน

สำหรับโครงการภาครัฐที่อยู่ระหว่างดำเนินการของ ITD จำนวน 12 โครงการ รวมมูลค่า 103,134 ล้านบาท อาทิ  ทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว วงเงิน 26,560 ล้านบาท ,รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา -คลองขนานจิตร วงเงิน 7,560 ล้านบาท ,รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา- ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ วงเงิน 9,290 ล้านบาท ,รถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 5,807 ล้านบาท, รถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า วงเงิน 9,348 ล้านบาท ,ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้วช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ตอน 7 วงเงิน 1,868 ล้านบาท ,ทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 3 จังหวัดสมุทรสาคร วงเงิน 2,491 ล้านบาท ในสัญญาก่อสร้างทางยกระดับ ,ทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ สัญญาที่ 3 งานโยธา วงเงิน 7,359 ล้านบาท ฯลฯ


โดดอุ้มแรงงานทั่วประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีปัญหากลุ่มแรงงานของITD ในหลายจังหวัดได้เคลื่อนไหวทวงเงินค่าจ้างที่ค้างจ่าย ว่า ขณะนี้ได้รับทราบรายงานจากเจ้าหน้าที่แล้ว และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ล่าสุด ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมาย ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนรายงานข้อมูลข้อเท็จจริงกลับมายังกระทรวงอีกครั้ง

บิ๊กโปรเจ็กต์ในมือITD