เปิดหลักเกณฑ์วิธีขอรับเงินผู้สูงอายุยากลำบาก 3000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี

09 มี.ค. 2567 | 09:38 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2567 | 09:45 น.
4.2 k

เปิดหลักเกณฑ์วิธีขอรับเงินผู้สูงอายุยากลำบาก 3000 บาท ไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี ตรวจสอบเงื่อนไข หลัง พม.เตรีย

วันนี้ 9 มีนาคม 2567  นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการการให้บริการสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนด้านที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่ม ประสบปัญหาด้านครอบครัว ถูกทารุณกรรม ถูกแสดงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถูกทอดทิ้ง ไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี


 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การขอรับความช่วยเหลือหลัก ๆ ทำได้ 2 ทาง โดยในกรุงเทพฯ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ส่วนในจังหวัดอื่น ๆ ได้ที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) 76 จังหวัด ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศฑส.) 11 แห่ง และหน่วยงานในสังกัด พม. ที่อยู่ในจังหวัดนั้น โดยในการยื่นรับความช่วยเหลือ กรณีผู้สูงอายุแจ้งเรื่องเองต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน - บัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ หากบุคคลหรือหน่วยงานอื่นพบเห็น ใช้บัตรประจำตัวประชาชน - บัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ของผู้แจ้งเรื่องมาใช้ประกอบเป็นเอกสารยื่น แต่หากไม่มีหลักฐาน ให้มีหนังสือรับรองที่ทางราชการออกให้ว่าผู้สูงอายุมีถิ่นที่อยู่ในพื้นที่นั้นจริง

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี




 

โดยจะให้ความช่วยเหลือในรูปเงินช่วยเหลือครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท หรือมอบเป็นสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ใน 1 ปีสามารถช่วยเหลือได้ 3 ครั้ง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องไว้ ก่อนจะรวบรวมข้อมูลส่งให้ พม. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ตรวจสอบว่าเข้าหลักเกณฑ์จริง หากผ่านเกณฑ์ก็จะได้รับความช่วยเหลือผ่าน

  •   การโอนเงินผ่านระบบ Krungthai Corporate Online
  •  เช็ค
  • และ (3) เงินสด (โดยมีใบสำคัญรับเงิน ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ลงนามเป็นพยานให้ครบถ้วนพร้อมภาพถ่ายประกอบ)


“รัฐบาล โดย พม. เดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างครอบคลุมทุกมิติ อาทิ การดำเนินโครงการอบรมการพัฒนาคุณภาพแบบพุ่งเป้าสำหรับกลุ่มเปราะบางทั้งด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ พร้อมรับกับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างเข้มแข็ง” นางรัดเกล้าฯ กล่าว.