ผ่า 4 ปัญหา 7 ทางรอด "ชาวนา-ข้าวไทย" ทำยังไงจะพ้นยากจน-ผลผลิตต่ำ

08 มี.ค. 2567 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2567 | 11:22 น.
703

สภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย หนึ่งในนั้นเขียนถึง 4 ปัญหา และ 7 ทางออก ของชาวนาและข้าวไทย เพื่อแก้ปัญหาความยากจน-ผลผลิตต่ำ และการพัฒนาไม่ย่ำอยู่กับที่

“ข้าวถือเป็นสินค้าเกษตรที่ไทยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้มากกว่าแสนล้านบาทต่อปี แต่ชาวนากลับเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน และมีปัญหาความยากจน”

เป็นประโยคหนึ่งที่เกษตรกรชาวนาอ่านแล้วเจ็บปวด ระบุในท่อนหนึ่งของรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี2566 จัดทำโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

รายงานฉบับนี้ของสศช. ชี้ให้เห็นภาพรวม ปัญหาและทางรอดของข้าวและชาวนาไทย โดยเริ่มต้นรายงานถึงการเพิ่มประสิทธิภาพข้าวไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

ข้าวถือเป็นสินค้าเกษตรที่ไทยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้มากกว่าแสนล้านบาทต่อปี แต่ชาวนากลับเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน และมีปัญหาความยากจน รวมทั้งยังเป็นอาชีพที่ระหว่างปี 2557 – 2566 รัฐอุดหนุนเฉลี่ยสูงถึง 5.4 หมื่นล้านบาทต่อปีซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาในหลายด้าน ได้แก่ ด้านราคา จากราคาข้าวที่มีความผันผวน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถวางแผนการผลิตได้ รวมทั้ง บางส่วนยังถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ 

ด้านต้นทุน จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างปี 2563 - 2565 พบว่า ต้นทุนการผลิตข้าว เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.0 ต่อปี โดยเฉพาะปุ๋ยที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยปี2565 ราคาปุ๋ยสูตรสำคัญเพิ่มขึ้น มากกว่า 1.4 เท่า 

ขณะที่การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ยังมีปัญหา เนื่องจากไม่สามารถควบคุมคุณค่าทางธาตุอาหาร รวมทั้ง ยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ และด้านผลผลิต โดยผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยอยู่ในระดับต่ำในปีเพาะปลูก 2564/2565 

โดยผลผลิตต่อไร่ของไทยอยู่ที่ 311 กิโลกรัม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกกว่า 1.5 เท่า และระหว่างปี 2556 – 2565 ผลผลิตต่อไร่ของข้าวนาปีหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปี ซึ่งการลดลงของผลผลิตต่อไร ส่วนหนึ่งเกิดจาก

1. การขาดเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และการพัฒนาพันธุ์ข้าวไม่ต่อเนื่อง โดยปีการผลิต 2566/2567 สามารถผลิตได้ 7.2 แสนตัน ต่างจากความต้องการใช้ที่มีมากถึง 1.4 ล้านตัน ทำให้ชาวนาต้องนำเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้เอง และมีระดับความงอกต่ำมาใช้แทน

2.การพัฒนาพันธุ์ข้าวได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อย โดยงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวเฉลี่ยระหว่างปี 2558 – 2564 อยู่ที่ 225.1 ล้านบาทต่อปี และแนวโน้มลดลง 

3. การเพาะปลูกข้าวจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสม จากข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินในปี 2565 พบว่า มีข้าวที่ปลูกในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเล็กน้อย หรือไม่เหมาะสมถึง 23.9 ล้านไร่ 

ขณะเดียวกัน พื้นที่นาส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน โดยมีพื้นที่นาที่อยู่ในเขตชลประทานมีเพียงร้อยละ 23.0 ลดลงจากร้อยละ 33.4 ในปี2557 

4. เกษตรกรยังนำเทคโนโลยีมาใช้ไม่มาก รวมทั้งข้าวยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผลผลิตเสียหายทุกปี อีกด้วย 

 

ข้อเสนอยกระดับการปลูกข้าว-คุณภาพชีวิตเกษตรกร

รายงานภาวะสังคมของ สศช. ระบุด้วยว่า ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอเพื่อยกระดับผลิตภาพการปลูกข้าวและคุณภาพชีวิตเกษตรกร คือ 

  1. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ และการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร 
  2. ส่งเสริมวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง และยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพในการเพาะปลูกให้มากขึ้น 
  3. ส่งเสริมการลดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยเน้นการบำรุงดินหรือการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีราคาต่ำกว่า 
  4. ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยอาจต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดธุรกิจ Start up เพื่อสร้างการแข่งขันในตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาเทคโนโลยีต่ำลงและประชาสัมพันธ์ตัวอย่างการนำเทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนแหล่งเงินทุนและองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร
  5. ให้ความรู้การเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 
  6. พัฒนาระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เพื่อให้ความคุ้มครองความเสียหายทางเกษตรจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและยกระดับให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนกระบวนการผลิตของภาคเกษตร 
  7. ควรพิจารณาการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชมูลค่าสูงชนิดอื่นทดแทนการปลูกข้าวที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri - Map) และสภาพภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ 

รวมทั้งการสนับสนุนการทำเกษตรผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงด้านรายได้จากราคาข้าวด้วยการเพิ่มความหลากหลายของผลผลิตในไร่นา

 

ที่มา : รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566