ผ่าเเผนพัฒนาทักษะ AI ให้แรงงานไทยได้ไปต่อ

05 มี.ค. 2567 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2567 | 16:09 น.

ตลาดแรงงานไทยปี 2566 ปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานไทยเฉลี่ยลดลง เหตุผลก็คือคน "ขาดทักษะ" โดยเฉพาะด้าน AI โดยบุคลากรยังไม่เปิดรับการใช้ AI เท่าที่ควร ด้านแผนแม่บทไอเอแห่งชาติ ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัล วางโรดแมป 6 ปี

แม้ว่าสถานการณ์ในตลาดแรงงานไทยภาพรวมในปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานรวม (Unemployment Rate) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเหลือ 0.81% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ทำให้อัตราว่างงานเฉลี่ยทั้งปีนั้น ลดลงเหลือ 0.98% ซึ่งกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2562 หลังจากก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2563-2565 อัตราการว่างงานไทยสูงกว่า 1% มาตลอด แต่ค่าจ้างแรงงานไทยเฉลี่ยลดลง เหตุผลก็คือคน "ขาดทักษะ"

ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมไตรมาส 4 ปี 2566 ลดลง 0.2%YoY มาอยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นผลมาจากปัญหาแรงงานไทยขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ

เมื่อพิจารณาจากสัดส่วน แรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled Labour) พบว่า ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนถึง 43.6% ในปี 2565 ของกำลังแรงงานทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560 สาเหตุอาจมาจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม (Traditional Industries) ยังไม่เปลี่ยนผ่านสู่ อุตสาหกรรมใหม่ (New Industries) ตามรายงานของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567

ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไป คือ  การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส.3 ที่สำคัญคือ การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ AI

รายงานของสภาพัฒน์ระบุว่า การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ AI ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 องค์กรมากกว่า 80% จะมีการนำ AI มาปรับใช้

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจ AI Readiness Index โดย Cisco พบว่า มีเพียง 1 ใน 5 หรือ ราว 20% ขององค์กรในประเทศไทยที่มีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการปรับใช้และใช้ประโยชน์จาก AI ช่องว่างที่สำคัญ คือ "ด้านบุคลากร" ที่ยังไม่เปิดรับการใช้ AI เท่าที่ควร และยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI

ผ่าเเผนพัฒนาทักษะ AI ให้แรงงานไทยได้ไปต่อ

ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับการศึกษาของ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่พบว่า บุคลากรเป็นด้านที่มีความพร้อมน้อยที่สุดเป็นอันดับสองรองจากด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะด้าน เช่น Machine Learning Software Development และ Data Scientists รวมถึงกลุ่มผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI มีอัตราการย้ายงานสูง ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการขาดแคลนและทำให้มีการแย่งแรงงาน

สภาพัฒน์เสนอว่า ควรส่งเสริมให้เกิดการ upskill / reskill ด้าน AI ให้แก่แรงงานในตลาด เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่มากขึ้น รวมถึงควรมีการสนับสนุนการผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับทิศทางการเติบโตของภาคธุรกิจในอนาคต

สอดคล้องกับรายงาน "เศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ฉบับที่ 8 (e-Conomy SEA 2023 Report – Reaching new heights: Navigating the path to profitable growth)  6 ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ระบุว่า ปี 2023 เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้เติบโตแค่มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) แต่ยังเติบโตด้านรายได้ และการสร้างผลกำไร ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับ Digital Economy ในภูมิภาคนี้ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รองจากอินโดนีเซีย

ประเทศไทย ปี 2023 เศรษฐกิจดิจิทัล จะมีมูลค่า GMV 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดการณ์ปี 2025 จะมีมูลค่า GMV เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน 2030 จะมีมูลค่า GMV อยู่ที่ 100,000 – 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลตัวขับเคลื่อนหลักจาก 5 กลุ่ม คือ อีคอมเมิร์ซ ท่องเที่ยวออนไลน์ ขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ สื่อออนไลน์ และบริการด้านการเงินดิจิทัล

ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ "AI THAILAND"

ประเทศไทยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ "AI THAILAND" ระยะเวลาระหว่างปี 2565–2570

เน้นการสร้างกำลังคนให้มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI ทุกระดับให้ได้มากกว่า 13,500 คน ต่อปี เเละยังเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและบริการ AI เพื่อส่งเสริมการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มกลางบริการ AI ประเทศไทยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าถึงและนำ AI ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนการใช้งานเริ่มที่ 15 ล้านครั้งในปี 2566

5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เตรียมพร้อมด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ AI ได้แก่ พัฒนาข้อกำหนด กฎหมาย มาตรฐาน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ AI ของประเทศ การสื่อสาร สร้างการรับรู้ด้านจริยธรรมเอไอ

ยุทธศาสตร์ที่ 2  พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสนับสนุนด้าน AI เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มศักยภาพบุคลากร พัฒนาการศึกษาด้าน AI ได้แก่ พัฒนาทักษะ องค์ความรู้ทุกระดับ สนับสนุนทุนศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรสู่ภาคธุรกิจ พัฒนากลไกความร่วมมือกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ได้แก่ ส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่กลุ่มสาขาเป้าหมาย พัฒนาเทคโนโลยีฐาน (Core Technology) และการวิจัยเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มด้านเอไอ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี AI ในภาครัฐ และภาคเอกชน ส่งเสริมอุตสาหกรรมเชื่อมโยง AI สู่การใช้งานพัฒนากลไก และ Sand Box นวัตกรรมทางธุรกิจ และ AI สตาร์ทอัพ