ความเหลื่อมล้ำไทย ติดอันดับ 6 ของโลก “ออมสิน” ชู CSV ปรับธุรกิจช่วยสังคม

24 ก.พ. 2567 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2567 | 10:19 น.
666

ออมสินชี้ความเหลื่อมล้ำไทยมากสุด อันดับ 6 ของโลก สถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูง ชูปรับธุรกิจสู่ CSV นำเนื้อในธุรกิจช่วยสังคม สร้างก้าวใหม่ประเทศไทย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในงาน AGENDA : EXCLUSIVE DINNER TALK หัวข้อเรื่อง “THAILAND NEW ERA” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ในโอกาสครบรอบ 44 ปี ว่า ก้าวใหม่ประเทศไทย ออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งเรามองว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื้อรังรุนแรงมาก เราเห็นปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ เช่น ความเหลื่อมล้ำเรื่องการเงิน การศึกษา และสาธารณสุข เป็นต้น

ทั้งนี้ ไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยกลุ่มคนรวยที่สุด 10% แรกของไทย ถือครองสินทรัพย์ 77% ทั้งประเทศ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

“ไม่ว่าเราจะดูเรื่องใดก็ตาม อาทิ ดูเรื่องรายได้ การถือครองที่ดิน หรือมิติไหนก็ได้ จะเห็นความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง นำมาซึ่งปัญหาความยากจน และคนกลุ่มฐานรากมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ 138% แปลว่า รายได้ 100 บาท แต่ใช้เงินจริงๆ 138 บาท และความยากจนของไทย ส่วนใหญ่เป็นความยากจนข้ามรุ่น และมีแบบแผนที่ใกล้เคียงกัน คือ การศึกษาไม่สูงมาก รายได้ไม่แน่นอน และไม่มีเงินออม”

โดยทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื้อรัง คือ หนี้ครัวเรือน ซึ่งแนวโน้มอยู่ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด หนี้ครัวเรื่อนไทย อยู่ที่ประมาณ 91% จากในอดีต อยู่ที่ระดับ 80% และ 75% ซึ่งทยอยปรับเพิ่มขึ้นมา โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปลี่ยนนิยามเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย

ทั้งนี้ จากการวิจัยของ ธปท. แบบแผนของไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้ยาวนาน เกษียณแล้วยังเป็นหนี้อยู่ และเป็นหนี้เกินตัว จำนวนมากเป็นหนี้เสีย 10 ล้านคน และ 42% เป็นหนี้นอกระบบ โดยหากถามว่า วิธีหนึ่งในการแก้ปัญหา คือ การดึงคนเข้าสู่ระบบทางการเงิน เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ปัญหาหลักของเมืองไทย 3-4 ปีที่ผ่านมา การเข้าถึงสินเชื่อในระบบยากไม่ได้ดีขึ้น และมีแนวโน้มที่แย่ลง

“จากการศึกษา พบว่า หากดึงคนเข้าสู่ระบบทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อ ถ้าใครเข้าถึงได้ดีกลุ่มชนนั้นกว่า 80% รายได้จะเพิ่มขึ้น และเกือบ 90% ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น หมายความว่า สามารถนำสินเชื่อมาสร้างรายได้ เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น”

นายวิทัย กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว จึงนำมาสู่แนวความคิดการทำธุรกิจสมัยใหม่ ด้วยการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญความยั่งยืนปลายทาง หรือ ESG ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างไรก็ดี มีอีกแนวความคิดที่สร้างขึ้นมา คือ CSV (Creating Shared Value) โดยเป็นแนวความคิดในการทำธุรกิจ เอาปัญหาสังคม หรือสิ่งแวดล้อมปรับเข้ามาสู่การทำธุรกิจ ทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

“หลักการ CSV  คือ เราสร้างกำไร รายได้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็เอาการช่วยเหลือสังคมใส่เข้าไปเนื้อในการทำธุรกิจด้วย ซึ่งบริษัทใหญ่ก็นำหลักการ ESG นำมาสู่ CSV มาใช้ ยกตัวอย่าง บริษัทที่ทำ ได้แก่ TOMS, Nestle และ Amazon โดยออมสินก็นำหลักการ CSV มาใช้เช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ ออมสินได้เอาเนื้อในการช่วยเหลือสังคมมาสร้างธุรกิจ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมา ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น กำไรสูงขึ้น เกิดเป็น CSV โดยออมสินได้ปรับธุรกิจเดิมให้เป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างชัดเจน และนำกำไรจากธุรกิจปกติมาสนับสนุนธุรกิจเชิงสังคม

"การทำโปรเจคขึ้นมาขาดทุนเลย ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สร้างอาชีพให้คน แต่เอากำไรจากธุรกิจใหญ่มาสนับสนุน เช่น การปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจใหญ่ที่มีความมั่นคง 10,000 ล้านบาท รายเดียว และสร้างความสมดุลด้วยการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 10,000 ล้านบาท ช่วยผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสามารถช่วยได้หลายร้อยคน เป็นต้น"

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาออมสินลดต้นทุนอย่างรุนแรง ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อมาช่วยสนับสนุนธุรกิจเล็ก และไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็สามารถช่วยคนได้ นอกจากนี้ ยังสร้างธุรกิจใหม่ เป็นเหมือนต้นไม้เล็ก อาทิ ธุรกิจจำนำทะเบียนรถมอร์เตอร์ไซค์ ลดดอกเบี้ยลง 10% จากราคาตลาด ปล่อยสินเชื่อช่วย 2 ล้านคน ทำให้อัตราดอกเบี้ยทั้งตลาดลดลงทันที ทำให้ประชาชนฐานรากเข้าถึงดอกเบี้ยถูกลง และเรามีกำไรจากธุรกิจเล็กน้อย 

อีกทั้ง ยังมีน็อนแบงก์ขายฝากที่ดิน มีธุรกิจพีโลนที่จะทำ ซึ่งจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาช่วยคน และจะก่อตั้งบริษัทบริหารหนี้เสีย หรือ (AMC) หวังว่าจะได้ใบอนุญาตภายใน 2-3 เดือน ซึ่งจะช่วยผู้ที่ติดสถานะเป็นหนี้เสียประมาณ 5 แสนคน

“ทั้งหมดนี้เป็นธุรกิจใหม่ กำไรไม่ต้องเยอะ เราสร้างมูลค่าใหม่ ช่วยคนได้เยอะ ซึ่งเป็นแนวคิดการทำธุรกิจเก่าซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ และการทำธุรกิจใหม่ที่เป็นต้นไม้เล็ก ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นโอกาสการทำธุรกิจของเรา ในคอนเซ็ปที่เรียกว่า Creating Shared Value”