ค้าชายแดนตราด-เกาะกง 6 ปีหดตัว เหตุ “ภาษี-ศก.ชะลอตัว”

23 ก.พ. 2567 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2567 | 09:48 น.

ค้าชายแดนตราด-เกาะกง 6 ปีไม่โต ชี้ 3 ปัจจัยหลักจากการจัดเก็บภาษีและเศรษฐกิจชะลอตัว ระบุสินค้าส่งออกต้องเสียภาษีที่พนมเปญ ขณะรถไฟฟ้าส่งผลกระทบนำเข้าลด

นายณัฐวุฒิ สระฏัน ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จังหวัดตราด เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนไทยกัมพูชาด้านจังหวัดตราด ผ่านจุดผ่านแดนถาวรหาดเล็ก(ทั้งทางบกและทางทะเล) 6ปีไม่โต เนื่องจากตั้งแต่งบประมาณปี 2560-2566 และ 3 เดือนแรกของงบประมาณปี 2567 มีดังนี้

ปีงบประมาณ 2560 มีมูลค่า 33,532,538,208 บาท ,ปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่า 36,850,934,997 บาท ปีงบประมาณ 2562 มีมูลค่า 36,008,536,270  บาท ปีงบประมาณ 2563 มีมูลค่า 32,474,212,949 บาท ปีงบประมาณ 2564 มีมูลค่า 31,728,239,349.42 บาท ปีงบประมาณ 2565 มีมูลค่า 33,919,257,387 บาท ปีงบประมาณ 2566 มีมูลค่า 31,888,988,389 บาท และ 3 เดือนแรก(ม.ค.-มี.ค.) ปี 2567  มีมูลค่า 6,839,264,985บาท 

จะเห็นได้ว่า ตัวเลขไม่เพิ่มขึ้นเหมือนช่วงปี 2561-2562 เนื่องจากมีปัจจัยในเรื่องการเลือกตั้งในกัมพูชาและปัญหาด้านการจัดเก็บภาษีนำเข้าระหว่างไทยกับกัมพูชา ขณะที่แนวโน้มในปีงบประมาณ 2567 จะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ เพราะ 3 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 6.8 พันล้านบาท และมีแนวโน้มในแต่ละเดือนสูงเกิน 2.9-3.0 พันล้านบาท 

ด้านนายธิติเดช ทองภัทร รองประธานนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ประเทศกัมพูชา ยอมรับว่า ว่า ในรอบ 4-5 ปี มูลค่าการค้าขายระหว่างจ.ตราด-เกาะกง มีมูลค่าและความเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มียอดการค้าระดับหมื่นบ้านต่อปี และเพิ่มมาถึงระดับ 2.8-3.0 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้น มีปัจจัยจากความเติบโตของธุรกิจและการพัฒนาบ้านเมืองของรัฐบาลกัมพูชาที่นำโดยสมเด็จฮุนเซน ทำให้มูลค่าการค้าขายผ่านทางจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กเติบโตขึ้นทุกปี

ค้าชายแดนตราด-เกาะกง 6 ปีหดตัว เหตุ “ภาษี-ศก.ชะลอตัว”

รวมทั้งการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ยิ่งส่งผลดีต่อการค้าชายแดน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ซึ่งเป็นโรงงานสัญชาติไทยที่เข้ามาลงทุนถูกนำกลับไปสู่ประเทศไทยผ่านจังหวัดตราดทำให้มูลค่าการค้าขายสูงขึ้นอีก แม้ทางกัมพูชาจะขาดดุลการค้าจำนวนมากก็ตาม

“จุดเปลี่ยนมาจากการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้การค้าขายระหว่าง 2 ประเทศหยุดชะงักชั่วคราวยอดการค้าขายลดลงหลายพันล้านบาท แต่หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นมาถึงระดับปกติ แต่มูลค่าการค้าขายก็ไม่ได้เติบโตขึ้น สาเหตุประเด็นแรกมาจากการกฏเกณฑ์ของฝั่งกัมพูชา โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีขาเข้านั้น หากสินค้าที่มาจากประเทศที่ 3  เช่น จีน อินเดีย สิงคโปร์ หรือประเทศอื่นๆ ผู้ส่งออกจะต้องไปเสียภาษีในพนมเปญ  โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งตรงมาจากโรงงานหรือจากกรุงเทพ ที่สั่งมาจากประเทศที่สาม ไม่สามารถเสียภาษีในเกาะกงได้ 

ประเด็นที่สอง สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทย คือ ยางรถยนต์ นมผง และสินค้าอุปโภคบริโภค ต้องไปเสียภาษีที่พนมเปญ ทำให้ผู้ส่งออกต้องเสียเวลาและต้นทุนสูง จึงหันไปส่งออกในช่องทางอื่นแทน อีกส่วนหนึ่งมาจากสินค้าที่สั่งนำเข้าจากกัมพูชา(นิคมอุตสาหกรรมเกาะกง)จากโรงงานยาซากิ ในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกงที่สั่งซื้อจำนวนหลายพันล้านบาทต่อปี  เกิดชะลอตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งรถยนต์ที่ผลิตอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาป เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ยอดการสั่งซื้อลดลงด้วย”


ขณะที่นางสุณีวรรณ นบไทย คลังจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ภาพรวมของการค้าผ่านชายแดนไทยกัมพูชาด้านจังหวัดตราดมูลค่าการค้าขายชายแดนผ่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กหดตัวร้อยละ -6.6 จากปี 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกจากแรงกดดันด้านราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศและกำลังซื้อภาคครัวเรือน ของประเทศกัมพูชา ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มนมและครีม ข้าว ปลาแช่แข็ง และผ้าถัก 

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ดัชนีการค้าชายแดน หดตัวร้อยละ -12.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน ซึ่งสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าลดลง เนื่องจากมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและยาสีฟันลดลง และมูลค่าการนำเข้าชุดสายไฟรถยนต์สำเร็จรูปจากนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง และปลากะตักทั้งตัวแช่เย็น รวมทั้งหอยนางรมแช่เย็นลดลงด้วย