ค้าปลีกค้าส่งตราด แข่งเดือด ชิงยอดขาย 2 หมื่นล้าน

15 พ.ย. 2566 | 14:19 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2566 | 14:33 น.
1.4 k

สงครามค้าปลีกค้าส่งยักษ์ใหญ่ตราด เปิดศึกชิงยอดขายทั้งปี 66 คาดมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท กระทบห้างท้องถิ่นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสำนักงานคลังจังหวัดตราด เปิดเผยถึงมูลค่าการค้าปลีกและการค้าส่งของจังหวัดตราด ในปี 2566 ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มียอดขาย 12,430 ล้านบาท  อีก 4 เดือนที่เหลือคาดจะมียอดขายทั้งปี 2566 เกือบ 20,000 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าที่สูงไม่น้อยทีเดียว

จากตัวเลขดังกล่าว พบว่าธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่งในจังหวัดตราดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้ประกอบการรายเดิมของจังหวัดตราด ที่เคยแข่งขันในระดับท้องถิ่น จากร้านค้าระดับห้องแถว หรือร้านค้าขนาดใหญ่ รวมทั้งห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านค้าในรูปแบบร้านสหกรณ์อย่าง ร้านสหกรณ์จังหวัดตราด 
 

แต่เมื่อเศรษฐกิจเมืองตราดเติบโตมากขึ้น ธุรกิจค้าปลีกระดับชาติได้เข้ามาลงทุนตั้งเพื่อแข่งขันกับห้างค้าปลีกของจังหวัด  แห่งแรกคือ ห้างเทสโกโลตัส  ตามด้วยห้างแมคโคร  หลังเปิดบริการไม่นาน ห้างตราดสรรพสินค้า ต้องปิดไปอย่างถาวร ขณะที่ร้านค้าอื่นๆได้รับผลกระทบไปถ้วนหน้า และต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด

ค้าปลีกค้าส่งตราด แข่งเดือด ชิงยอดขาย 2 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง และเครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิโกลบอล เฮาส์  ร้านเดอะเบสท์ หรือ ร้านสยามชัย หรือแม้ร้านค้าปลีก อย่าง ร้านดีเชฟ ที่เข้ามาเปิดสาขาในจังหวัดตราดหลายสาขา ใช้กลยุทธราคาถูกกว่าร้านค้าส่งของจังหวัดตราด

ยิ่งกว่านั้น ร้านสะดวกซื้อของจังหวัดตราดแห่งแรกที่ตั้งอยู่ที่หน้าตลาดซอยไร่รั้ง เคยได้รับความนิยมมากในยุคแรก  เพียงไม่กี่ปีธุรกิจร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นมาก และกระจายไปสู่ชุมชนต่างๆทั่วทั้งจังหวัดตราด และได้รับความนิยมมาก  โดยก่อนหน้านี้ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 จะเปิดสาขาอยู่ในปั๊มน้ำมันปตท.ทุกแห่ง แต่วันนี้ร้าน 7-11 เปิดนอกปั๊มน้ำมัน มีการปรับสถานที่ให้กว้างขวาง พร้อมลานจอดรถยนต์

อย่างไรก็ตาม เจ้าของธุรกิจค้าปลีกระดับชาติที่มองเห็นความเติบโตของร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ประสบความสำเร็จ จึงมีคู่แข่งเพิ่มมาก   ขณะที่เทสโก้โลตัสหลังกลุ่ม7-11 หรือกลุ่มซีพีเอฟเข้ามาซื้อ ได้ปรับขนาดร้านให้เล็กลง เป็นร้านสะดวกซื้อแบรด์ใหม่ ใช้ชื่อใหม่เป็น “โลตัสโกเฟรช” เปิดในทุกชุมชนเมือง 

ขณะที่กลุ่มธุรกิจน้ำดื่มช้าง เปิด “ร้านซีเจมอร์” ประกบโลตัสโกเฟรช และ ร้าน7-11 เปิดหน้าสู้กันทุกพื้นที่ รวดเดียวเกือบ 10 สาขา และอาจมีเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า ล่าสุดเปิดสาขาใหม่หน้าร้านสหกรณ์จังหวัดตราด อยู่ใกล้ร้านโลตัสโกเฟรชไม่ถึง 100 เมตร ชิงยอดขายในธุรกิจค้าปลีกของจังหวัดตราดอที่มีไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท

ค้าปลีกค้าส่งตราดแข่งเดือด ชิงยอดขาย 2 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ “บิ๊กซี” จากที่เคยเปิดอยู่ในปั๊มน้ำมันบางจาก วันนี้มาตั้งร้านค้าสะดวกซื้อ ในหลายชุมชน ทั้งในตลาดเทศบาลตำบลบ่อพลอย และตลาดเทศบาลตำบลแสนตุ้ง ล่าสุด ตั้งที่หน้าตลาดซอยไร่รั้งด้านถนนชัยมงคล

ส่วนธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของจังหวัดตราด อย่าง “ร้านศิริโภชน์” ที่มีฐานการเงินเข้มแข็ง มีแนวการบริหารที่ดี มียอดขายไม่ตำกว่า 400-500 ล้านบาท/ปี   และร้านสหกรณ์จังหวัดตราด เคยมียอดขายมากเกินกว่า 1,200 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือเพียง 700-800 ล้านบาท เพราะบริการผิดพลาดจนส่งกระทบต่อยอดขาย หากทั้งสองแห่งยังปรับตัวไม่ได้ สุดท้ายจะกลายเป็นตำนานที่ เช่นเดียวกับห้างตราดสรรพสินค้าต้องเผชิญมาแล้ว
 

นายอังกรู ฤชาคณิต รองประธานหอการค้าจังหวัดตราดและเจ้าของร้านศิริโภชน์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของการค้าปลีกและค้าส่งของจังหวัดตราดในปี 2565 เทียบกับ 2566 มีความเติบโตขึ้นใน 2 ลักษณะคือ มูลค่าของสินค้ามีราคาสูงขึ้น และการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังประเทศกัมพูชามียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าการค้าปลีกและส่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

รวมทั้งภาคเกษตรกรรมสามารถขายผลไม้ได้ดี และล้งมีรายได้สูง แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาฟื้นเต็มตัว  มีผลต่อการบริโภคสินค้าในกลุ่มนี้  ในปี 2566 มูลค่าจะใกล้เตะ 2 หมื่นล้านบาท ความเติบโตที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ร้านค้าปลีกและขายส่งขนาดใหญ่ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคเข้ามาลงทุนเปิดร้านค้าปลีกทั้งขนาดใหญ่และเล็กเพิ่มขึ้น ร้านค้าปลีกและร้านส่งของจังหวัดตราด ต้องปรับตัว ทำร้านโชห่วยให้ทันสมัย และจัดระเบียบสินค้าใหม่

“ร้านค้าปลีกค้าส่งระดับชาติที่ลงทุนเปิดร้านค้าในชุมชนและปรับร้านใหม่ ทั้งร้าน7-11 หรือ เจเคมอร์ หรือบิ๊กซีมินิ โลตัสโกเฟรช ร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็กเหล่านี้ จะตั้งในพื้นที่เขตเทศบาล หรือชุมชนเมือง ที่เน้นอยู่ในอำเภอมากกว่า จะไม่ลงไปในระดับตำบลที่ร้านโชว์ห่วยท้องถิ่นตั้งอยู่ เพราะต้นทุนสูงกว่า ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง มีต้นทุนสูง

หากขายได้น้อยวันละ 70,000 บาท/วัน จะขาดทุน หรือ50,000 บาท/วัน อาจต้องปิดตัวลง ร้านค้าย่อยหรือร้านโชว์ห่วยท้องถิ่นสามารถสู้ได้เพราะต้นทุนน้อยกว่ามาก แต่หากไม่ปรับตัวเลยแบบซื้อมาขายไปย่อมสะดุดและอาจจะต้องปิดตัวไป”

นายอังกรู  กล่าวว่า ร้านศิริโภชน์ ก็ต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ดูแลและเอาใจใส่ในทุกเรื่อง บริการลูกค้าใกล้ชิด อะไรที่ทำให้ลูกค้าประทับใจต้องงัดออกมา เพราะคู่แข่งไม่ใช้มีเฉพาะร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ แต่ในระดับเดียวกัน อย่างร้านสหกรณ์จังหวัดตราดที่มีศักยภาพดีกว่า ต้นทุนถูกกว่า แม้ระยะนี้อาจจะเซไปบ้าง แต่หากปรับตัว และได้ผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาดูแลย่อมจะก้าวหน้าต่อไปได้

รวมทั้งคู่แข่งในอนาคตที่จะมีร้านค้าส่งแบบเดียวกันจากจันทบุรีมาลงทุนในปลายปีนี้ จะต้องเตรียมปรับการทำงานให้มากขึ้น หรือ ร้านดีเซฟที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวตราด เจ้าของร้านเป็นคนตราด และมีธุรกิจค้าส่งขนม ได้เปิดสาขาในจังหวัดเพิ่มอีกหลายแห่ง

ขณะที่นายไกรสีห์ รัตนเศียร ประธานร้านสหกรณ์จังหวัดตราด กล่าวว่า สถานการณ์ของร้านสหกรณ์วันนี้ไม่สู้ดีนักจากปัญหาภายใน ทำให้สมาชิกและคู่ค้าไม่มีความเชื่อมั่น แต่ร้านสหกรณ์จังหวัดตราดกำลังปรับระบบการทำใหม่ครั้งใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก ผู้ลงทุน และชาวตราดทั่วไป การปรับปรุงครั้งนี้ ยอมรับว่า ร้านสหกรณ์จังหวัดตราดต้องก้าวเดินด้วยความลำบาก แต่เชื่อว่าจะกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับมาได้ เพราะร้านสหกรณ์มีสมาชิก 17,000 คน ซึ่งในปลายปีนี้ ทางร้านสหกรณ์จังหวัดตราดจะจัดงานบอลครบรอบ 70 ปี และจัดงานมหกรรมสินค้าราคาถูกเพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น

“ผมมั่นใจว่า สิ่งที่ทางคณะกรรมการชุดที่ 70 เข้ามาปรับปรุง แก้ไขระบบการทำงานในร้านสหกรณ์จังหวัดตราดที่มีปัญหาหมักหมมมานาน นับตั้งแต่เกิดการแก้ไขยอดขายให้มีกำไรมากทั้งที่ไม่เป็นไปตามมูลค่าการขาย เพื่อหวังยอดโบนัส ปัญหาจึงเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องยอดการขาย ยอดการจ่ายเงินปันผล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสมาชิกและผู้ลงทุน ทางคณะกรรมการฯได้เร่งออกไปชี้แจงและออกไปพูดคุยกับร้านค้าย่อย และสมาชิกระดับอาวุโสให้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องการเพิ่มหุ้นที่ตั้งเป้าหมายไว้ 30 ล้านบาท”

สถานการณ์ที่มีการแข่งขันกันทั้งร้านค้าขนาดใหญ่ระดับชาติ ที่ลดขนาดร้านลงมาเปิดศึกแย่งส่วนแบ่งการตลาดมูลค้าการค้าปลีกของจังหวัดตราดที่มีมูลค่าเพียง 17,000-18,000 ล้านบาท จะกระทบต่อร้านค้าปลีกระดับกลางของท้องถิ่น อย่างร้านศิริโภชน์หรือร้านดีเซฟที่มีคนตราดเป็นเจ้าของ และร้านสหกรณ์จังหวัดตราดที่มีสมาชิกกว่า 17,000 คน
 

ร้านโชห่วยจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดในสงครามการค้าปลีกค้าส่งรอบที่ 2  อาจจะมีผู้ก้าวผ่านไม่สำเร็จและต้องยุบตัวหรือปิดกิจการลงไป เหมือนห้างตราดสรรพสินค้าแห่งเดียวของจังหวัดเมื่อ 10 กว่าปีที่ต้องปิดตำนานไป นั่นคือสิ่งที่จะต้องติดตาม!!