กพท.ไล่บี้สายการบิน ลดค่าตั๋วเครื่องบิน รับสงกรานต์ 2567 แก้ปัญหาตั๋วแพง

21 ก.พ. 2567 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2567 | 11:07 น.
1.0 k

"สุริยะ" สั่ง กพท. เร่งสรุปแนวทางลดค่าตั๋วเครื่องบินแพง เผยผลหารือร่วม 6 สายการบิน นำร่องแผนระยะสั้น เล็งเพิ่มเที่ยวบินช่วงเทศกาล ส่วนระยะยาวจะปรับลดเพดานราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน-สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมนัดประชุมอีกครั้ง 28 ก.พ.นี้

"สุริยะ" สั่ง กพท. เร่งสรุปแนวทางลดค่าตั๋วเครื่องบินแพง หวังแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน เผยผลหารือร่วม 6 สายการบิน ลุยกำหนดมาตรการ 2 ระยะ นำร่องแผนระยะสั้น เล็งเพิ่มเที่ยวบินช่วงเทศกาล ส่วนมาตรการระยะยาวชี้สมควรปรับลดเพดานราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน-สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมนัดประชุมอีกครั้ง 28 ก.พ.นี้ ก่อนเสนอ กบร. เคาะไฟเขียว-มีผลบังคับใช้ต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เชิญสายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ และไทยเวียตเจ็ท เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีค่าโดยสารทางอากาศมีราคาสูงโดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยว พร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

 

ทั้งนี้จากผลการหารือ กพท. ได้จัดทำมาตรการการแก้ไขปัญหาค่าโดยสารทางอากาศมีราคาสูง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • มาตรการระยะสั้น

โดยสายการบินได้เสนอขอเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในช่วงเทศกาล ทั้งในห้วงเวลาช่วงเช้า หรือช่วงเย็นตามที่จะดำเนินการได้ เพื่อให้ในระบบการจำหน่ายตั๋วมีราคาต่ำลง และเพิ่มทางเลือกแก่ผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะต้องมีการประสานงานกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ก่อนที่จะเริ่มมาตรการต่อไป

ขณะที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่จะถึงนี้ คาดการณ์ว่าจะเป็นห้วงเวลาที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสายการบินจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางด้านราคาเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องไปพิจารณาในรายละเอียดก่อนที่จะกลับมาประชุมกับ กพท. อีกครั้ง ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งการพิจารณาจะต้องประสานกับหน่วยงาน ทอท. ทย. และ บวท. และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อบูรณาการและสนับสนุนให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

  • มาตรการระยะยาว

กพท. ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาโดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากพบว่า การเดินทางของผู้โดยสารในตอนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงปกติ ประกอบกับในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมานั้น กพท. ได้มีการศึกษาเพื่อปรับเพดานอัตราค่าโดยสาร แต่ล่าสุดจากการเก็บข้อมูลต้นทุนค่าโดยสาร พบว่า เบื้องต้นสมควรที่จะมีการปรับปรุงเพดานอัตราค่าโดยสารอีกครั้ง

ทั้งนี้ในการปรับปรุงเพดานอัตราค่าโดยสารจะต้องมีการประสานกับสายการบิน เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมทั้งประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสายการบิน รวมถึงแนวทางการดำเนิน การให้ครอบคลุมในทุกมิติ เนื่องจากสายการบินได้มีการจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้าไปแล้วประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ได้เร่งรัดให้การพิจารณาแนวทางแล้วเสร็จโดยเร็วก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพดานอัตราค่าโดยสาร และมีผลบังคับใช้สอดคล้องกับสถานการณ์นี้ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้โดยสาร และผู้ประกอบการสายการบิน