วธ.หวั่นเวนคืนรถไฟฟ้าสีส้ม บางขุนนนท์ กระทบโบราณสถาน 148 แห่ง

10 ก.พ. 2567 | 13:19 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2567 | 14:48 น.
872

กระทรวงวัฒนธรรม แจ้งครม.เคาะร่างกฎหมายเวนคืนที่ดิน ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หวั่นกระทบโบราณสถาน 148 แห่ง ในระยะทาง 13.4 กิโลเมตร

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎหมายเวนคืนที่ดิน โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน 2 ฉบับ เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร คือ ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน

โดยกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนและกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการ เพื่อกิจการขนส่งมวลชนตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ ครอบคลุม 11 เขต และ 29 แขวงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีที่ดินที่จะต้องเวนคืน ประมาณ 380 แปลง และอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อถอนประมาณ 400 หลัง นั้น

ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม ได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ทั้ง 2 ฉบับแล้ว เห็นด้วยในหลักการ และมีความเห็นประกอบการพิจารณาต่อครม. ดังนี้

1. จากการตรวจสอบแนวเส้นทางตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย พบว่า ตลอดแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีส้มและในรัศมี 1 กิโลเมตรโดยรอบแนวเส้นทางรถไฟฟ้า มีโบราณสถานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ ตั้งอยู่อย่างหนาแน่นเป็นจำนวน 148 แห่ง

โดยโบราณสถานดังกล่าวมีทั้งโบราณสถานที่ประกาศ ขึ้นทะเบียนแล้ว และโบราณสถานที่ยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียน รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

2. ในการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนและดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชนตาม ร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ควรคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับโบราณสถาน ทั้งโบราณสถานที่อยู่ เหนือพื้นดินและใต้ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือใกล้เคียงกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมทั้ง ต้องคำนึงถึงผลกระทบของการดำเนินการในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 4 เขต ได้แก่

  1. กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน
  2. กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก
  3. พื้นที่ฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์
  4. พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณ กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก

สำหรับในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 4 เขต เป็นบริเวณที่มีโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับโบราณสถานหรือพื้นที่ในเขตกรุงรัตนโกสินทร์อาจดำเนินการได้ โดยหลีกเลี่ยงการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถาน รวมทั้งพื้นที่เขตกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้ง 4 เขต

หรือในกรณีมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ควรกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนให้ผ่านเขตโบราณสถานหรือเขตกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 4 เขตเพียงเท่าที่จำเป็น หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อโบราณสถานให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้เนื่องจากการดำเนินการใด ๆ เพื่อกิจการขนส่งมวลชนในเขตโบราณสถานทุกแห่ง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ด้วยการขออนุญาตดำเนินการในเขตโบราณสถานจากอธิบดีกรมศิลปากร

แม้ว่าที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโบราณสถานนั้น จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยโดยการเวนคืนก็ตาม ซึ่งการดำเนินการ ในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่กำลังดำเนินงานตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เนื่องจากตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีโบราณสถานตั้งอยู่หลายแห่ง ดังนี้

  • วังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทย)
  • อาคารโรงพิมพ์ศรีหงส์
  • อาคารตึกแถวริมถนนพระสุเมรุช่วงปลาย
  • ป้อมมหากาฬพร้อมด้วยปราการ
  • เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
  • สะพานเทเวศรนฤมิตร
  • คลองผดุงกรุงเกษม
  • อาคารตึกแขก

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ในขั้นตอนของการขออนุญาตต่อกรมศิลปากรเพื่อเข้าดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชนในเขตโบราณสถานข้างต้นทุกแห่งแล้ว โดยที่ประชุมครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นทั้งหมดไปพิจารณาแล้ว