รัฐบาลประกาศเจรจา FTA ไทย-อียู จบปี 2568 ดันการค้า-ลงทุน

01 ก.พ. 2567 | 08:13 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2567 | 08:23 น.

รัฐบาล ประกาศความเดินหน้าเจรจา FTA  ไทย-อียู ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 ขยายการค้าการลงทุนพร้อมลงนาม FTA ฉบับแรกของรัฐบาลนี้ระหว่างการเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก พัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับการประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 2 เมื่อวันที่ 22 – 26 มกราคม 2567 ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการแปลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอต่าง ๆ ด้านการค้าและการลงทุน พร้อมสร้างความเข้าใจในการร่วมกันยกระดับไปสู่หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มากขึ้น 

ทั้งนี้ การประชุมเจรจา FTA ไทย-EU รอบที่ 3 EU รับเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือประเด็นต่าง ๆ ด้านความร่วมมือไทย-EU เพิ่มเติม ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้การเจรจา FTA สามารถบรรลุข้อสรุปได้ภายในปี 2568 

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพบว่า ปัจจุบันสหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย ซึ่งในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่า 41,582.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกสินค้าสำคัญสู่สหภาพยุโรป ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมนีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ และแผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 21,838.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าสำคัญจากสหภาพยุโรป ได้แก่ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ มีมูลค่าการนำเข้า 19,743.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีแผนในการลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ในระหว่างการเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี วันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะเป็นFTA ฉบับแรกที่ลงนามในรัฐบาลนี้ และถือเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย ซึ่งผลของ FTA ไทย-ศรีลังกา จะเปิดโอกาสให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดในภูมิภาคเอเชียใต้ได้มากขึ้นอย่างกว้างขวาง

นายชัย กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านการทูตเชิงรุก โดยเร่งเปิดประตูการค้าและการลงทุน ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่ รักษาตลาดเดิม และแสวงหาตลาด FTA ใหม่ เพื่อขยายประโยชน์ต่อด้านการค้าการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มพูนโอกาสสินค้าไทย พร้อมกับยกระดับคุณภาพสินค้าไทยให้มีศักยภาพในเวทีโลก