พาณิชย์ ชงวาระลับ ครม. เตรียมเคาะ FTA ไทย-ศรีลังกา

30 ม.ค. 2567 | 09:23 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2567 | 09:26 น.

จับตาวาระครม. วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ ชงวาระลับ FTA ไทย-ศรีลังกา ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี ฉบับที่ 15 ของประเทศไทย และฉบับแรกของรัฐบาลนี้ โดยนายกฯ เตรียมเดินทางไปเป้นสักขีพยานในพิธี 3 - 4 กุมภาพันธ์ นี้

วันนี้ (30 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยต้องจับตากระทรวงพาณิชย์ เสนอวาระลับ โดยเสนอขอความเห็นชอบต่อร่างความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

สำหรับการลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย - ศรีลังกา ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี ฉบับที่ 15 ของประเทศไทย ครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และเป็นความตกลงการค้าเสรี ฉบับแรกของรัฐบาลนี้

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ จะมีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 3 - 4 กุมภาพันธ์ 2567 และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม FTA ไทย – ศรีลังกา ด้วย

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุข้อมูลว่า แม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย โดยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อาทิ แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล

นอกจากนี้ สินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานยนต์  สิ่งทอ อัญมณี โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก กระดาษ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์ เมล็ดข้าวโพด 

ส่วนของภาคบริการที่ได้รับประโยชน์ อาทิ การเงิน ประกันภัย คอมพิวเตอร์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และวิจัยและพัฒนา และด้านการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ สาขาการผลิตอาหารแปรรูป การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การแพทย์

ข้อมูลการค้าล่าสุดในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา มีมูลค่า 320.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 213.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 106.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 

ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์