พร้อมถก FTA ไทย-อียูรอบ 2 เพิ่มขีดแข่งขัน ขยายการค้า 1.4 ล้านล้าน

20 ม.ค. 2567 | 08:36 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 08:56 น.

ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อเจรจาความตกลงการค้าเสรี(FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หากเจรจาเป็นผลสำเร็จ นำสู่ขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในอนาคต จะเป็นเอฟทีเอที่มีจำนวนสมาชิกที่เป็นคู่สัญญามากที่สุดของไทย

KEY

POINTS

  • ความคืบหน้าการเจรจาการค้าเสรี(FTA) ไทย-สหภาพยุโรป(อียู) รอบที่ 2 ในประเทศไทย
  • อียูรุกหนักในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ โดยขอให้ไทยเปิดแบบเสรีแบบไม่มีเงื่อนไข
  • การเตรียมพร้อมของฝ่ายไทยในการเจรจา 19 ประเด็นในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายสรุปผลการเจรจาได้ภายใน 2 ปี

โดยอียูมีสมาชิกมากถึง 27 ประเทศ จากปัจจุบันไทยมีความตกลงเอฟทีเอเพียง 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มแต้มต่อ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดอียู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดการค้าขนาดใหญ่

ข้อมูลในปี 2565การค้าไทย-อียู (ส่งออก+นำเข้า) มีมูลค่ากว่า 1.42 ล้านล้านบาท และข้อมูลล่าสุดช่วง 11 เดือนแรกปี 2566 มีมูลค่าการค้า 1.33 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • พร้อมถกเข้มรอบ 2

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูในครั้งนี้ เป็นความต่อเนื่องจากการเจรจาในรอบที่ 1 (18-22 ก.ย. 2566 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม) โดยจะมีการประชุมเจรจากลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญใน 19 ประเด็นที่ได้กำหนดไว้ในกรอบการเจรจา

อาทิประเด็น การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ระบบอาหารที่ยั่งยืน การค้าดิจิทัล พลังงานและวัตถุดิบ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ที่แทรกอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่ยั่งยืน รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงานที่อียูให้ความสำคัญและอาจจะมีอะไรที่ลํ้าลึกกว่าที่ผ่านมา จากเอฟทีเอที่อียูทำกับประเทศอื่นถือเป็นเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูงที่คู่ค้าต้องปรับตัวตาม รวมถึงปรับในเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในการเจรจาครั้งนี้จะมีผู้แทนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเด็นของไทยที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และหน่วยงาน อื่นๆ ร่วมคณะเจรจาในแต่ละประเด็นทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบเนื่องจากจะมีผลได้-ผลเสียต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยในอนาคต

  • คู่แข่งเข้าคิวเจรจาอียู

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้ให้นโยบายและเป้าหมายให้สรุปผลการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูภายใน 2 ปี โดยปีนี้กำหนดเจรจา 3 รอบสลับกันเป็นเจ้าภาพ แต่หากมีความจำเป็นก็อาจจะเพิ่มรอบได้

ขณะที่เวลานี้มีหลายประเทศที่ต่อคิวเจรจาเอฟทีเอกับอียูเช่นเดียวกับไทย เช่น อินโดนีเซีย ที่ได้เจรจากับอียูมาแล้ว 5-6 ปี แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป มีมาเลเซียที่เคยเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับอียูไปแล้วแต่ได้หยุดไป และกลับมาเริ่มเจรจาใหม่ รวมถึงยังมีฟิลิปปินส์ ส่วนที่ได้เจรจาและจัดทำความตกลงเอฟทีเอกับอียูและมีผลบังคับใช้ไปแล้วมี เวียดนาม และสิงคโปร์ ทำให้สินค้าของทั้งสองประเทศนี้ได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดอียู

“เรามีความพร้อม 100% ในการเจรจาเอฟทีเอกับอียูในรอบใหม่ ซึ่งยังถือเป็นรอบแรก ๆ มาก อาจจะยังไม่มีข้อตกลงอะไร แต่จะเป็นลักษณะคุยกันให้เคลียร์ว่าสิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการคืออะไร ซึ่งในข้อเท็จจริงยังต้องมีการหารือกันในรายะเอียดในแต่ละประเด็นอีกมาก”

พร้อมถก FTA ไทย-อียูรอบ 2 เพิ่มขีดแข่งขัน ขยายการค้า 1.4 ล้านล้าน

  • อียูต้องการความมั่นคงอาหาร

ต่อข้อถาม การเจรจาเอฟทีเอครั้งนี้ ทางอียูต้องการอะไรจากไทย และไทยต้องการอะไรจากอียู อธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ กล่าวว่า ถ้าดูจากเอฟทีเอของอียูที่ทำกับประเทศอื่นไปแล้ว ในส่วนของสินค้าที่อียูต้องการเข้าถึงตลาดไทยได้มากขึ้น เช่น สินค้าอุตสาหกรรม (สินค้านำเข้าอันดับต้น ๆ ของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม, เคมีภัณฑ์, เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และการแพทย์, ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์) รวมถึงสินค้าบริการ เรื่องระบบอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งจากบทเรียนจากโควิด อียูได้เห็นแล้วว่า เรื่องห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญ

ในส่วนของไทยอยากเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพมากขึ้น (สินค้าส่งออกไทยไปอียูในอันดับต้น ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, รถยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ, แผงวจรไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ยาง) ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะเจรจากันว่ามีกลุ่มสินค้าใดบ้างจะลดภาษีเป็น 0% หรือเปิดเสรีทันที หรือลดภาษีใน 5 ปี 10 ปีสินค้าและบริการที่อ่อนไหวที่ยังคงไว้ และให้มีระยะเวลาในการปรับตัว ซึ่งถือเป็นเบสิคของการเจรจาอยู่แล้ว

ส่วนในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐที่อียูต้องการให้ไทยเปิดเสรีแบบไม่มีเงื่อนไข คงต้องเจรจากันในรายละเอียดว่า อียูต้องการอะไรจากไทยบ้าง ไทยเปิดได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะขอเวลาปรับตัวอย่างไรเพราะอาจกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศ ดังนั้นคณะเจรจาคงไม่กล้าไปเปิดอะไรเสรีโดยพลการอย่างแน่นอน

นางสาวโชติมา กล่าวตอนท้ายว่า นอกจากเอฟทีเอไทย-อียูที่เป็นเป้าหมายการเร่งเจรจาให้มีความคืบหน้า เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 ปีแล้ว ในปีนี้ทางกรมจะเร่งเดินหน้าสรุปผลการเจรจาเอฟทีเอที่ค้างอยู่ ได้แก่ เอฟทีเอไทย-EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์) และเอฟทีเอไทย-ศรีลังกาที่ได้สรุปผลการเจรจาแล้ว และมีแผนลงนามความตกลงในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นอกจากนี้มีเอฟทีเอไทย-เกาหลีใต้ที่จะเปิดเจรจาในกรอบใหม่ในระดับทวิภาคี เพิ่มเติมจากเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ที่มีอยู่แล้ว