ครม.ไฟเขียว ร่างพ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายประมง เตรียมส่งสภาฯ พิจารณา

30 ม.ค. 2567 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2567 | 13:59 น.

ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... เตรียมส่งกฤษฎีกาตรวจสอบร่างกฎหมาย ก่อนส่งสภาฯ พิจารณา คาดจบภายใน 2 เดือน

วันนี้ (30 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ตามที่ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทางทะเล เสนอ

ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป หลังจากได้ผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้วนั้น จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตรวจสอบ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... จากนั้นจึงที่ประชุมสภาจะมีการพิจารณาร่างกฎหมาย คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ก่อนที่จะนำเรื่องส่งกลับเข้ายังที่ประชุมครม.อีกครั้ง

“การแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานไร้การควบคุม หรือ IUU ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่หาเสียงไว้ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม การประมง โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าไม่ขัดแย้งกับหลักการของ IUU” นายเศรษฐา ระบุ

ขณะเดียวกันในการประชุมครม.วันนี้ ยังเห็นชอบการเสนอขอการตั้งรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของหลายหน่วยงานที่เสนอคำของบประมาณปี 2558 โดยครม.ได้ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการไปตามกฎหมาย และทำตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมครม. ยังเห็นชอบแผนการใช้งบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อใช้ในการดูแลเรื่องเด็กนอกระบบการศึกษา ประจำปี 2568 เพื่อส่งเสริมให้เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ให้ได้ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

 

ครม.ไฟเขียว ร่างพ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายประมง เตรียมส่งสภาฯ พิจารณา

 

ต่อมา นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ... ตามที่ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง เสนอ

ทั้งนี้ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง เสนอว่า สืบเนื่องจากบทบัญญัติบางประการของ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก. การประมง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560 ไม่สอดคล้องกับวิธีการทำประมงในประเทศ จึงส่งผลกระทบกับชาวประมง ทำให้ชาวประมงบางส่วนต้องเลิกอาชีพทำการประมงไปและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพการทำประมง

โดยในคราวประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. แล้ว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมประมงได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. รวมทั้งได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พ.ย. 2562) และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว

โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาด้วยแล้ว จำนวน 21 ฉบับ (ประกอบด้วยกฎกระทรวงจำนวน 1 ฉบับ ระเบียบจำนวน 2 ฉบับ และประกาศจำนวน 18 ฉบับ)