ชงรัฐหนุน ‘เครื่องสำอาง’ ไทย เป็น Soft Power ตลาด 2.4 แสนล. ส่งสัญญาณโตแรง

28 ม.ค. 2567 | 17:18 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2567 | 17:46 น.
3.2 k

ตลาดความงามไทย 2.4 แสนล้านปี 67 หืดขึ้นคอ เหตุผู้ประกอบการเผชิญภัยรอบด้าน SME ไม่มีพื้นที่ขาย ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ “สมาคมเครื่องสำอางไทยฯ” วอนรัฐผลักดันเป็น Soft Power หาพื้นที่จัดเทรดโชว์ สร้างความตระหนักให้คนไทยใช้ของไทย

KEY

POINTS

  • ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางไทยส่งสัญญาณโตแรง 2.4 แสนล. 
  • สมาคมเครื่องสำอางไทยแนะรัฐบาลผลักดันตลาดเครื่องสำอางไทยเป็น Soft Power

 นางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยในปี 2567 เรียกได้ว่า “หืดขึ้นคอ” ถึงแม้ภาพรวมจะเติบโตขึ้นทุกปีแต่เป็นการเติบโตที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ถือเป็นอุตสาหกรรมที่น่าเสียดาย เพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน

 “ตลาดความงามไทยมูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านบาท ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโต แต่ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ในปี 2565 มีอัตราการเติบโตต่อปี 9% ต่อมาในปี 2566 มีอัตราการเติบโต 9.22% และคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะเติบโตได้ 9-9.3% โดยอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในไทยถือเป็นเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยเพิ่มจีดีพีให้ประเทศไทย แต่ปัญหาหลักที่ผ่านมา คือ เอสเอ็มอีที่จำหน่ายเครื่องสำอางไม่มีพื้นที่ขาย มีข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่จัดแสดงสินค้าที่อยู่ภายใต้ภาคเอกชนที่มีค่าเช่าพื้นที่ราคาสูง

 จึงอยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยสร้างให้เป็น Soft Power ด้วยการเข้าไปสนับสนุนจัดหาพื้นที่ว่าง หรือตึกว่าง ให้ผู้ประกอบการนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย เพื่อเป็นศูนย์รวมสินค้าความงาม จากนั้นส่งเสริมให้เป็นสถานที่สำหรับกลุ่มบริษัททัวร์นำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าเช่นเดียวกับในต่างประเทศ และสร้างความตระหนักให้คนไทยใช้สินค้าของไทย”

ชงรัฐหนุน ‘เครื่องสำอาง’ ไทย เป็น Soft Power ตลาด 2.4 แสนล. ส่งสัญญาณโตแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “เครื่องสำอางไทย”ยืนหนึ่ง ครองใจตลาด FTA ลุยเปิดตลาดเพิ่ม https://www.thansettakij.com/business/economy/573206

ทั้งนี้ตลาดสินค้าเกี่ยวกับความงามของประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2.46 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการผลิตขายในประเทศ 85% นำเข้ามาจำหน่าย 15% และส่งออก 28% โดยมีตลาดสกินแคร์สัดส่วน 44% แฮร์แคร์ 16.7% บอดี้แคร์ 13.7% ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก (ออรัลแคร์) 12.3% เครื่องสำอาง 9.3% สินค้าเกี่ยวกับผู้ชาย 7.5% และน้ำหอม 4.3%

จึงเห็นได้ว่าปัจจุบันกลุ่มสุขภาพและความงามเป็นธุรกิจที่สร้างเงินให้จำนวนมากเนื่องจากความงามที่แข็งแรงจะต้องมาจากภายในและภายนอก อย่างไรก็ตามการเติบโตในตลาดความงามที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการขายในช่องทางอีคอมเมิร์ซในสัดส่วนถึง 28% โดยปีนี้คาดว่ายอดขายจากช่องทางดังกล่าวยังเติบโตได้ถึง 13% ทั้งนี้สินค้าระดับเคาน์เตอร์แบรนด์ปี 2566 มีมูลค่า 4.45 หมื่นล้านบาท เติบโต 9% และปีนี้คาดว่าเติบโต 13% หรือมีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ด้านสินค้าระดับกลางปี 2566 มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 8.8% และสินค้าระดับล่าง ที่เข้าถึงง่ายปี 2566 มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าเติบโต 11.6% ในปีนี้

 “ความน่ากลัวของอุตสาหกรรมนี้ คือการแข่งขันก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ชูจุดเด่นเรื่องของการไม่มีกำแพงภาษี ทำให้คู่แข่งในตลาดล้น เช่น ประเทศอินโดนีเชีย หลังเปิดเออีซี มีการประกาศมาตรฐานฮาลาลขึ้นมา ทำให้เป็นจุดเด่นที่สามารถส่งสินค้าจำหน่ายได้เป็นวงกว้าง ซึ่งมาตรฐานนี้ทำออกมาเพื่อป้องกันธุรกิจของตัวเอง ทางสมาคมจึงต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ ซึ่งยอมรับว่าพอเป็นโลกการค้าเสรีแล้วการแข่งขันกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที”

นางเกศมณี กล่าวอีกว่า ความท้าทายของอุตสาหกรรมในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงปี 2567 ปัญหาหลักคือเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จากค่าขนส่ง วัตถุดิบ ที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสภาวะสงครามที่เกิดขึ้น ทำให้สินค้าที่ต้องขนส่งทางเรือนั้นมีข้อจำกัดมากขึ้น อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่า ณ ขณะนี้ ประเทศไทยยังเป็นผู้นำในอาเซียนอยู่ทั้งการขายที่มากที่สุด และรับจ้างผลิตก็มากที่สุดด้วยเช่นกัน

 โดยในปัจจุบัน สมาคมเครื่องสำอางไทย มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 400-500 บริษัท และกว่า 97% เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี อีก 3% เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานเพื่อการขยายให้เครื่องสำอางไทยไปสู่เวทีโลก สมาคมฯ เป็นตัวแทนของตัวแทนของภูมิภาคอาเซียน สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยเป็นตัวแทนเดียวของประเทศไทยที่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอย่างลึกซึ้ง และทราบถึงความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของอุตสาหกรรม

หน้าที่หลักของ สมาคมฯ คือ การเป็นตัวแทนของสมาชิกทำหน้าที่ประสานงานกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) กระทรวงสาธารณสุข หรืองานทางด้านการตลาด หรือส่งออก โดยประสานงานกับหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ และในปัจจุบันก็เป็นเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ และการสร้างนวัตกรรม ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งสมาคมทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการช่วยกันพัฒนาเอสเอ็มอี

 “เนื่องจากสมาชิกเป็นผู้ประกอบการเอสเอมอีเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ฉายภาพให้เห็นชัดเจนว่าในตลาดที่เติบโตทุกปีนี้ ต้องเติบโตได้มากกว่านี้ถ้ารัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน อยากให้รัฐบาลสร้างเครื่องสำอางไทยให้เป็นซอฟท์พาเวอร์”

ทั้งนี้สมาคมเครื่องสำอางไทย อยากให้รัฐบาล เร่งสร้างให้เครื่องสำอางไทยให้เป็นซอฟท์พาเวอร์ เพราะประเทศไทยถือเป็นฮับในการผลิตเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยสินค้าอยู่ในภูมิภาคอาเซียน 43% ลาว 60% ญี่ปุ่น 16.3% ออสเตเรีย 7.7 % จีน 7.7 % และเกาหลี 3.6% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลสามารถทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น แต่สินค้าที่เป็นตัวชูโรงของห้าง-ศูนย์การค้าต่าง ๆ กลับเป็นสินค้าแบรนด์เนมแทนที่จะเป็นสินค้าของไทย

 “รัฐบาลควรสร้างความตระหนักให้กับนักท่องเที่ยว และคนไทยเองให้นิยมสินค้าไทย อย่างที่เกาหลีใต้ทำสำเร็จในเรื่องของการสร้างซอฟท์พาเวอร์ นอกจากนี้สิ่งที่รัฐควรทำอย่างเร่งด่วนคือการทะลายกำแพงของต้นทุนของเอสเอ็มอีในเรื่องของพื้นที่จัดแสดงสินค้า โดยการให้รัฐเข้ามาเพิ่มพื้นที่จัดแสดงสินค้าภายใต้รัฐบาลเองมากกว่าเอกชน”

ปัจจุบันมีที่แสดงสินค้าแค่ 1 แห่ง ซึ่งควรจะให้โอกาสเอสเอ็มอีให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้ามากขึ้น และมี 3 แห่งที่เป็นที่งานจัดแสดงสินค้าที่เป็นของภาคเอกชนซึ่งมีค่าเช่าราคาแพง อยากให้รัฐสนับสนุนการจัดแสดงสินค้าระดับอินเตอร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพื่อโอบอุ้มเอสเอ็มอี และถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

 “สินค้าของไทยคว้ารางวัลจากทั่วโลกจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับการสร้างการรับรู้เท่าที่ควร ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วภาพลักษณ์ของสินค้าไทยนั้นดีมาก ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเรามีจุดแข็งในเรื่องวัตถุดิบที่ดีมาจากธรรมชาติ 100% ประกอบกับความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่มีขนบธรรมเนียมที่ดี มีมารยาท ยิ้มแย้มง่าย มีความเป็นมิตรก็เป็นตัวช่วยในการโปรโมตสินค้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อคงความเป็นศูนย์กลางการผลิตและเป็นผู้นำในอาเซียน

 การแข่งขันที่ร้อนระอุถือเป็นประตูด่านแรกที่ต้องผ่านไปให้ได้ นอกจากเครื่องสำอางเกาหลีใต้แล้ว ปัจจุบันยังมีแบรนด์จากญี่ปุ่น ไต้หวัน อิสราเอล เข้าในเมืองไทยด้วย แผนงานของสมาคม ในปี 2567 ที่อยากนำเสนอในอนาคต คือ การสร้างแบรนด์สินค้าไทย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า Product of Thailand ,Thailand Brand Name หรือ Made in Thailand คำเหล่านี้จะต้องสร้างให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นให้ได้ ต้องสร้างสินค้าให้มีเอกลักษณ์มากที่สุด”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,961 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2567