นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ (26 ม.ค.67) กลุ่มบริษัท ศรีตรัง ผู้ประกอบการในธุรกิจยางครบวงจร อันดับโลก เข้ามาซื้อยางแผ่นรมควันชั้น 3 จำนวน 2 ตลาด ได้แก่ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ราคา 70.33 บาท/กก. และ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคา 70.33 บาท/กก. ส่วน สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ชนะ บจก. จีทีรับเบอร์ฯ ราคา 70.65 บาท/กก. เป็นราคาสูงสุด สาเหตุมาจากนโยบายการบริหารขับเคลื่อนของ กยท.ภายใต้การกำกับของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการประกาศสงครามการลักลอบสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบด้านราคายางพาราที่เกษตรกรได้รับ ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
“ที่ผ่านมา มีปัญหาการลักลอบนำเข้ายางพาราตามชายแดน ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับยางพาราในประเทศให้มีราคาที่ตกต่ำ เนื่องจากราคายางพาราในต่างประเทศถูกกว่าราคายางพาราในไทย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของรัฐมนตรีเพื่อที่จะปราบปรามแล้วส่งผลแล้ว วันในวันนี้"
นายเพิก กล่าวว่า การปราบปรามลักลอบยางเถื่อน เป็นนโยบายภารกิจ ของ กยท. ในปี 2567 ภายใต้นโยบาย "อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน" ดังนี้ 1.สร้างตลาดยางมาตรฐานเดียวกัน 500 ตลาดทุกท้องถิ่นทั่วไทย รองรับ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) 2.บริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง 3.เร่งออกโฉนดไม้ยางทุกพื้นที่ทั่วไทย 4.สร้างปัจจัยการผลิตแบรนด์การยางเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร 5.ผลิตยางล้อแบรนด์การยางThai tyre 6.สนับสนุนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของสถาบันเกษตรกรเน้นการทำตลาดแบบจริงจัง และ 7.ติดอาวุธทางความรู้และเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรทุกระดับชั้น
“เมื่อส่งสัญญาณไปชัดเจน ผู้ประกอบการเข้าใจเจตนารมณ์ กยท.มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ออกไปสู่ท้องตลาดในมาตรฐานระดับโลก ก็ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายหลังจากที่มีการพูดคุยหารือทำความเข้าใจกับทุกองค์กร สมาคม ต่างๆ ไปแล้วจากนี้ไปน่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้นครับเป้าหมายคือเราต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกำหนดราคายาง ก็ต้องขอบคุณผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือช่วยกันยกระดับราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ"
นายเพิก กล่าวว่า วันนี้การวิเคราะห์ราคายางพารา ได้มีนโยบายให้มีการปรับแนวทางใหม่ จะไม่มีการวิเคราะห์ตลาดล่วงหน้า จะวิเคราะห์ราคาตลาดในประเทศ เพื่อส่งสัญญาณไปให้คู่ค้าต่างประเทศรับรู้ว่าสถานการณ์ผลผลิตในประเทศเป็นอย่างไร ผลผลิตจะขาดหรือไม่ เพราะประเทศไทยมียางมากที่สุดในโลก เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่า ยางราคาในจีนขายถูกกว่า
"ทำไมต้นทางขายแพงกว่าต้นทาง ผมก็บอกว่าไม่เป็นไรยังคงเหลือสต๊อกราคาถูก ซึ่งเป็นคราบน้ำตาของชาวสวน แต่จากนี้ไปไม่มีแล้ว เพราะในยุโรป หรือโซนแถบอเมริกาตอนนี้สต็อกยางไม่มีเหลือแล้ว เพราะปีที่ผ่านมาก็ใช้สต็อกที่เหลืออยู่ จนหมดแล้ว เท่ากับว่าเป็นศูนย์ ดังนั้นตอนนี้เหลือเฉพาะแค่ประเทศจีน ปีหนึ่งใช้ยางทั้งสิ้น 7 ล้านตัน ก็คือ ครึ่งหนึ่งของผลผลิตโลกที่ผลิตได้"
ขณะที่ผลผลิตของประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ และต่อไปถ้าไม่ทำให้ราคาคุ้มค่ากับต้นทุนเกษตรกรที่จะอยู่ได้ ซึ่งราคาต้นทุนวันนี้เป็นเท่าไร คิดไม่ได้แล้ว เพราะเศรษฐกิจผันผวน จะไปคิดแบบเดิมไม่ได้ แล้ว วันนี้ราคาเริ่มขยับขึ้น เห็นชาวสวนเริ่มมีรอยยิ้มแล้ว ก็แสดงว่าราคานี้อยู่ได้ ไม่ขาดทุนแล้ว โดยค่าใช้จ่ายจะเป็นตัวบ่งบอกว่าอาชีพชาวสวนยาง มีรายได้จากการยางเพียงพอดำรงชีพหรือไม่ นี่จะเป็นสิ่งที่ผมใช้วัดต้นทุน ในยุคที่ผมบริหาร กยท.