"พิมพ์ภัทรา"สั่งอุ้มผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปสู้กระแส"EV"

26 ม.ค. 2567 | 08:29 น.

"พิมพ์ภัทรา"สั่งอุ้มผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปสู้กระแส"EV" เร่งให้หน่วยงานในสังกัดเข้าไปดูแล รับฟังปัญหา และสรุปแนวทางช่วยเหลือเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาลเร่งช่วยเหลือ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ,สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ,สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวง เข้าไปดูแลผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นของไทยในกลุ่มรถยนต์สันดาปภายใน หรือรถยนต์น้ำมัน 

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจในภาวะที่ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (EV) กำลังเป็นกระแสอย่างมากในตลาดรถยนต์ไทยและทั่วโลก โดยให้ทุกหน่วยงานเร่งหารือ รับฟังปัญหา และสรุปแนวทางช่วยเหลือเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาลเร่งช่วยเหลือ ปรับตัวทันกับอีวีที่เข้ามาในปัจจุบัน 

เพราะผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีการจ้างงานจำนวนมาก และเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งถือเป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด ควบคู่กับการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมอีวีในไทยที่เป็นเทรนด์โลกเพื่อให้ไทยคงเป็นฐานการผลิตรถยนต์ต่อไป

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอี ยังอยู่ในภาวะถดถอย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวมานาน เกิดความเสียหายวงกว้าง กรมฯต้องเข้าไปดูแลอย่างเข้มข้นในกลุ่มธุรกิจที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเปลี่ยนผู้เล่นในตลาด จากญี่ปุ่น เป็นจีน 

โดยปลายเดือนมกราคมได้มีกานรเชิญ 10 สมาคมชิ้นส่วนยานยนต์และที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย สมาคมไทยคอมโพสิท มาหารือร่วมกันเพื่อรวมข้อเสนอและแนวทางช่วยเหลือเบื้องต้น 

จากนั้นจะเชิญ น.ส.พิมพ์ภัทรา มาเป็นประธานการประชุม เพื่อนำเสนอปัญหา แนวทางช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาล หาข้อสรุป และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป  

ขณะนี้ต้องยอมรับว่า กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กของชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ไม่ใช่แค่ผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงจากรถสันดาป มาเป็นรถอีวี ที่ใช้ชิ้นส่วนลดลงมาก 

แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนผู้เล่นในอุตสาหกรรม คือจากญี่ปุ่น เป็นจีน ซึ่งส่วนหนึ่งจีนไม่ได้ใช้ซัพพลายเออร์ในไทย แต่เลือกใช้จากผู้ผลิตในจีนเอง ขณะที่ญี่ปุ่นการลงทุนในส่วนของรถสันดาปแม้จะบอกว่านานเป็น 10 ปีหลังจากนี้ แต่ถึงเวลาอาจเร็วกว่านั้น ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการไทยได้ 

"เวลานี้ไทยเองต้องมีแผนรับมือทั้งทุกกรณีและทุกผู้เล่นทั้งจีนและญี่ปุ่น ถ้าไม่เร่งเข้ามาช่วยเหลือ บางรายอาจถึงขั้นต้องปิดตัว หรือบางรายอาจที่รู้ตัวเร็วปรับเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่ใช้ทักษะที่มีหรือพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางรอด ซึ่งกรมฯ จะนำข้อสรุปในที่ประชุมทั้งหมด เพื่อมาช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป"