IMF เตือนไทยคุมวินัยการคลัง-ดูแลหนี้ภาคเอกชน หวั่นฉุดรั้งศก.ฟื้นตัว

24 ม.ค. 2567 | 10:51 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2567 | 14:27 น.

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะไทยควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ควบคุมวินัยการคลัง และดูแลหนี้ภาคเอกชน ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในขณะนี้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงทั้งภายนอกและภายในประเทศ

 

จากการติดตามและประเมิน ภาวะเศรษฐกิจไทย ของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือ Article IV Consultation ประจำปี 2566 ซึ่งแม้โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัว แม้จะชะลอลงบ้าง โดย IMF คาดว่า จีดีพีไทยจะเร่งตัวขึ้นที่อัตรา 4.4% ด้วยแรงหนุนจากมาตรการดิจิทัล วอลเลต หลังขยายตัวประมาณ 2.5% ในปี 2566 จากการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม รายงานของ IMF เตือนว่า จาก ปัจจัยเสี่ยง ที่ยังมีอยู่ทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ไทยควรให้ความสำคัญกับ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการลดทอนผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (geo-economic fragmentation) รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) โดยเฉพาะการเพิ่มพูนทักษะแรงงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และปรับกฎเกณฑ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ

IMF เตือนไทยคุมวินัยการคลัง-ดูแลหนี้ภาคเอกชน หวั่นฉุดรั้งศก.ฟื้นตัว

ทั้งนี้ IMF ระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย อาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ โดย ปัจจัยเสี่ยงภายนอก (downside external risks) ประกอบด้วย

  • การชะลอตัวลงอย่างฉับพลันของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม รวมทั้งเศรษฐกิจจีน
  • การถีบตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
  • ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • และความแบ่งแยกที่ร้าวลึกยิ่งขึ้นทางด้านภูมิเศรษฐศาสตร์

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ (domestic risks) ที่จะทำให้เกิดภาวะความไม่แน่นอนสำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ได้แก่

  • การขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค
  • ภาระหนี้ของภาคเอกชนที่พุ่งสูงขึ้นกลายเป็นปัจจัยคุกคามความมั่นคงทางการเงิน
  • และการที่ภาคเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากจนเกินไป ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความอ่อนไหวได้มากหากเกิดเหตุการณ์ปุบปับฉับพลันกับตัวแปรในต่างประเทศ 

IMF แสดงความยินดีที่ไทยสามารถประคับประคองเศรษฐกิจจนมีการฟื้นตัวได้ดีหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังถือว่าช้ากว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน และแนวโน้มในอนาคตก็ยังไม่แน่นอนนัก จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ IMF จึงแนะนำว่า

  • เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการคลัง (limited fiscal space) และความอ่อนแอทางโครงสร้างที่มีมายาวนาน (longstanding structural weaknesses) ไทยจึงจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการเชิงนโยบายระยะสั้นออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่ IMF แนะว่า หากไทยต้องการขจัดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชน ก็ควรให้ความสำคัญกับนโยบายการคลังแบบเป็นกลาง (neutral fiscal) การจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า และให้ความสนับสนุนช่วยเหลือแบบจำกัดวงและยั่งยืน (targeted & sustained support) แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงเพื่อสร้างกลไกรองรับประชาชนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ หรือ Social Safety Nets
  • นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับนโยบายการคลังระยะกลางของไทย ที่มุ่งปรับลดภาระหนี้สาธารณะลงมา โดยยังคงขยายงบสำหรับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ พร้อมกับลดความเสี่ยงจากรัฐวิสาหกิจและกองทุนนอกระบบงบประมาณ (extrabudgetary funds)
  • IMF ยังแนะนำด้วยว่า ไทยควรให้ความสำคัญอันดับแรกกับการหาทางเพิ่มรายได้ ด้วยการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างค่อยเป็นค่อยไป และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่าย ซึ่งรวมถึงการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานแบบครอบจักรวาลซึ่งต้องใช้งบสูงมาก

อ่านต้นฉบับเต็ม การติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย (Article IV Consultation ประจำปี 2566) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คลิกที่นี่