กูรูจี้รัฐรับมือ ศก.โลกชะลอปี 4 ส่งออกหืด-ค้าโลกทรุด แนะลุย 4 เรื่องใหญ่

05 ม.ค. 2567 | 14:24 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2567 | 14:39 น.

นักวิชาการส่งสัญญาณเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวเป็นปีที่ 4 ฉุดการค้าโลกมีโอกาสติดลบ ติวเข้มรัฐ-เอกชนรับมือ 6 ปัจจัยเสี่ยงมากสุดส่งออกไทย หอการค้าฯจี้ดูแลภาคท่องเที่ยวให้กลับมาโตอย่างโดดเด่น ดูแลค่าบาท เร่งเจรจา FTA บริหารจัดการน้ำยั่งยืน ช่วยค้ำจีดีพีไทยโต

ปี 2567 หรือปีมะโรง ทิศทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดจีดีพี หรือเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2.8-3.3% การส่งออกขยายตัวได้ที่ 2-3% ขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2567 จะชะลอตัวจาก 3% ในปี 2566 โดย IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้จะโต 2.9% และ OECD คาดจะโต 2.7% สอดคล้องกับนักวิชาการและผู้นำภาคเอกชนไทยที่มองเศรษฐกิจ และการค้าไทยในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน (ชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2564) ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกที่ในปี 2566 มูลค่าการค้าโลกอยู่ที่ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 8% จากปีก่อนหน้า หรือลดลงเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565 มูลค่าการค้าโลกอยู่ที่ 32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เหตุจากความต้องการสินค้าลดลงในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้การค้าของประเทศกำลังพัฒนาสะดุด โดยในปี 2567 การค้าโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสติดลบอีกปี คาดว่า 0 ถึง -5% ขณะที่การส่งออกของไทยในปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 2.3% จากปี 2566 คาดอยู่ที่ -1.8%

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

สำหรับปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทยปีนี้ ปัจจัยจากนอกประเทศคือ 1.ทิศทางอัตราดอกเบี้ยอาจจะลดลง เพิ่มอำนาจซื้อของต่างประเทศ 2.ทิศทางเงินเฟ้ออาจจะลดลง เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะที่ปัจจัยลบภายนอกยังมีอยู่มาก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นปีที่สี่ 2.มูลค่าการค้าโลกคาดยังไม่ฟื้นตัวมากและมีโอกาสติดลบอีกปี 3.สงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง 4.เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นหนึ่งตลาดส่งออกหลักของไทยชะลอตัวจาก 5% ในปี 2566 เหลือ 4.2-4.7% ในปี 2567 และ 5.ความขัดแย้งสหรัฐ-จีน จากสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี

“ส่วนปัจจัยบวกในประเทศต่อการส่งออกไทย อาทิ รัฐบาลมีนโยบายรุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพควบคู่กับการรักษาตลาดเดิม การเร่งผลักดันการเจรจา FTA การส่งเสริมการส่งออกซอฟต์ พาวเวอร์สู่ตลาดโลก การปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การสร้างโชว์รูมออนไลน์ การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทย การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว และสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ส่งออกรายใหม่ เป็นต้น”

อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทยมากที่สุดในปี 2567 เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตภายในสูงสู้คู่แข่งไม่ได้ (ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย) 2.สินค้าจีนตีตลาดโลก และโรงงานจีนมาตั้งในไทย 3.สินค้าไทยมีนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง 4.เศรษฐกิจโลกและคู่ค้าชะลอตัว 5.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และ 6.ภาคการผลิตไทยปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวซึ่งเป็นทิศทางของโลกต่ำ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย ที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาสที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจบอย่างไร ทั้งนี้หอการค้าฯมีข้อเสนอภาครัฐเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจปี 2567 คือ 1.ดูแลภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเติบโตอย่างโดดเด่น 2.ดูแลค่าเงินบาทให้มีการปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพช่วยเพิ่มศักยภาพแข่งขันส่งออก 3.เร่งเดินหน้า FTA เพื่อขยายการค้า การลงทุน และ 4.ฟื้นแผนบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศอย่างเป็นระบบเพื่อยกระดับผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร