Net Zero-Healthcare มาแรง เปิดโอกาสลงทุนรับกระแสโลก

03 ม.ค. 2567 | 17:01 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2567 | 17:19 น.

Net Zero - Healthcare ยังมาแรง รับกระแสโลกใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการดูแลสุขภาพ ธนาคารโลก-บีโอไอ ชี้ผู้ประกอบการต้องลงทุนปรับตัวลดก๊าซเรือนกระจก รับกติกาค้าโลกใหม่ เพิ่มขีดแข่งขัน ขณะที่ธุรกิจด้านสุขภาพยังเติบโตต่อเนื่อง หลังประชากรโลกเข้าสู่ผู้สูงวัยมากขึ้น

ในปี 2567 กระแสของการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพูมิอากาศ (climate change) ยังเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ หลังการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) มีความชัดเจนขึ้นกับการเปลี่ยนผ่าน จากการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มใส่เงินเข้ากองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย เพื่อสนับสนุนให้ประเทศที่ยากจนและเปราะบางเข้ามามีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2065

วาระ Net Zero จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของภาคธุรกิจ ที่ต้องขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรไปพร้อมกับการใส่ใจโลก ดูแลสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกลุกขึ้นมาปฏิรูป ปฏิวัติการดำรงชีวิต สร้างความตระหนักกับคนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก ให้ความเห็นว่า เทรนด์เศรษฐกิจของไทยในปี 2567 คงหลีกหนี้ไม่พ้นที่จะต้องเร่งปรับตัวกับกระแสโลกที่ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของ Nielsen พบว่า 75% ของชาวมิลเลนเนียล ให้ความสำคัญกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมจนนำไปถึงจุดเปลี่ยนของพฤติกรรมพวกเขาให้ที่หันมาสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ขณะที่ผลสำรวจของ Pew Research Center พบว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z มีความโดดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมระดับสูงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และ 90% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลสนใจที่จะติดตามเรื่องของการลงทุนด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของคนรุ่นมิลเลนเนียล มักจะซื้อหรือใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน ที่คำนึงถึงปัจจัย ESG (Environment, Social และ Governance)

นอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้ามามีบทบาทต่อการบริโภคสินค้าและบริการที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ ESG แล้ว กฎ กติกาด้านการค้าระหว่างประเทศของโลก เช่น CBAM ของยุโรป ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวไปตามเทรนด์ของผู้บริโภคและกฎกติกาโลกดังกล่าว เป็นต้น

  • บีโอไอออกมาตรการหนุนลด CO2

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า จากการเดินทางโรดโชว์ของบีโอไอไปในประเทศต่าง ๆ ทำให้เห็นว่านักลงทุนทุกประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรับมือกับ Climate Change ที่นำมาเป็นปัจจัยแรกต่อการตัดสินใจลงทุนหรือกำหนดทิศทางการลงทุนในอนาคต เพื่อรับมือกับข้อกติกาการค้าใหม่ของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทั้งข้อกำหนดของ European Green Deal ในเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน CBAM)สหรัฐอเมริกา จะมีกฎหมาย Inflation ReductionAct (IRA) ที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำลังพิจารณา Clean Competition Act (CCA)ที่ จะจัดเก็บภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนเกินกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม แม้แต่จีน ได้บรรจุเรื่อง Climate Change ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจัดตั้ง ตลาดซื้อขายโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) เมื่อปี ค.ศ. 2021

ส่วนเกาหลีใต้ ออกนโยบาย Green New Deal สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการลงทุนเพื่อนวัตกรรมสีเขียว และญี่ปุ่น มีนโยบาย Green Growth Strategy ที่มุ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้วยมาตรการต่างๆ เช่น สนับสนุนเชื้อเพลิงไฮโดรเจน การใช้ EV การใช้วัสดุหมุนเวียน เป็นต้น

ดังนั้น เทรนด์ธุรกิจจากนี้ไป ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนี้ และจะต้องเร่งปรับตัวรับข้อกีดกันการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ในส่วนของบีโอไอเอง ก็ต้องปรับตัวหามาตรการต่าง ๆ มารองรับ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการหันมาลงทุนในด้านนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนโมเดล BCG ที่จะมีมาตรการส่งเสริม เพื่อผลักดันมูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรม BCG ไปสู่เป้าหมาย 4.4 ล้านล้านบาท และมุ่งสู่การเป็น BCG Hub ของอาเซียนให้ได้ ภายในปี 2570 จากปัจจุบันมีมูลค่าราว 3.2 ล้านล้านบาท โดยยังไม่นับรวมกับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี อีกหลายแสนล้านบาทในช่วง 5 ปี ข้างหน้า

  • การเงินเพื่อความยั่งยืนมาแรง

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ชี้ให้เห็นว่า ทั่วโลกเริ่มตระหนักและปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยมีภาคธนาคารเป็น Invisible Hand ในการจัดสรรเงินทุนและทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อนำไปสู่การปรับตัวของภาคเอกชนในการรับมือกับ Climate Change และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนของโลก (Global Sustainable Finance) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปี ค.ศ.2022 อยู่ที่ 1,537.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) อยู่ที่ 717 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นในส่วนของการออก Green Bond ถึง 50 % ดังนั้นโลกยังมีความต้องการ Climate Finance เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในส่วนความต้องการทางการเงินเพื่อรักษาโลกไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศา จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 8.6 % ซึ่ง EXIM BANK ก็พร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

  • ท่องเที่ยวรักษ์โลกมาแรง

ผลสำรวจของ Booking.com ระบุว่าในปี 2567 คนไทยมองว่าชีวิตคือการเดินทาง โดยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ถูกพิจารณาว่าเป็นสุนทรียศาสตร์ของการเดินทางแบบยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้การออกแบบเชิงนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น และก่อให้เกิดทางเลือกการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์รูปแบบใหม่

นักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ทริปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบสั้นๆ เท่านั้น แต่ยังนำแนวคิดด้านการอนุรักษ์มาเป็นแรงบันดาลใจและปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อเป้าหมายช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสร้างผลเชิงบวกต่อชุมชนและสังคมเพิ่มมากขึ้น

ด้านผลสำรวจจาก ทราเวลโลก้า (Traveloka) เผยเทรนด์การท่องเที่ยวในปี 2567 ว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความนิยม การขายแหล่งท่องเที่ยวแบบมีเรื่องราวจะไปได้ไกล โดยพบว่า 80% ของผู้ใช้งานต้องการจองที่พักที่ผ่านการรับรองด้านบริการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

  • “Health Tech” จุดเปลี่ยนเฮลท์แคร์

ขณะที่ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์โลกที่ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะยังคงมีการเติบโตในอัตราสูง เมื่อการลงทุนในภาคต่างๆ ปรับทิศหันมาลงทุนในธุรกิจด้านสุขภาพมากขึ้น ปัจจัยสำคัญคือ โลกที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งสถาบันการเงินชั้นนำของโลก “Morgan Stanley” คาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 23% ภายในปี 2568 ทำให้เป็นประเทศที่มีประชาชนใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมาก

 ประเทศไทย จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ณ วันที่ 31 กรกฏาคม 2566 มีจำนวนผู้สูงวัยจำนวน 12.8 ล้านคน คิดเป็น 19.4% จากประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปี จำนวนประชากรสูงวัยของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20% นั่นหมายถึงไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Soviety) ซึ่งเร็วกว่าประมาณการที่ตั้งไว้

 ในปี 2566 จึงเห็นการลงทุนในธุรกิจเฮลท์แคร์แบบก้าวกระโดดทั้งในด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนของโรงพยาบาล คลินิก ศูนย์แพทย์เฉพาะทาง สุขภาพและความงาม เทคโนโลยี AI ฯลฯ รวมไปถึงการผนึกรวมกันของภาครัฐและเอกชนในการยกระดับด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงการฟื้นฟู ดูแล ผู้ป่วยเพื่อเป็นการยกระดับระบบนิเวศด้านเฮลท์แคร์ให้เข้าถึงในทุกภาคส่วน

นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC สะท้อนถึงแนวโน้มธุรกิจเฮลท์แคร์ในปี 2567 กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้องอาศัยภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าคาด ส่วนความหวังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะเห็นผลหลังกลางปีไปแล้ว รวมทั้งโครงการดึงเงินลงทุนเข้าประเทศที่น่าจะเห็นการเติบโตอย่างช้าๆ ส่วนในภาคสาธารณสุขของประเทศ จากภาระด้านงบประมาณ ที่มีจำนวนเพิ่มสูงมากทั้งในกลุ่มโรคเฉียบพลันรุนแรงและโรคเรื้อรัง ทำให้ภาครัฐต้องจริงจังในด้านการส่งเสริมสนับสนุนการดูแลสุขภาพชุมชน ลดพฤติกรรมก่อความรุนแรงของโรค NCD ประกอบกับสังคมผู้สูงวัย ที่ยังขาดแนวทางในการรับมืออย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากการเปิดให้บริการสถานพยาบาลเช่นโรงพยาบาล คลินิกแล้ว จะเห็นการกระจายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุม รวมไปถึงการรักษากลุ่มโรคต่าง ๆ ให้ได้เพิ่มขึ้นแล้ว

ขณะที่ Digital Healthcare หรือการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล จะกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย การมุ่งหน้าสู่ Health Tech จึงมีส่วนสำคัญยิ่ง เพราะที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจเฮลท์แคร์ถือว่ามีการปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ไม่มากนัก ซึ่งการลงทุนด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ (Information System) ด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาล เชื่อมโยงทั้งภาครัฐและเอกชน จะทำให้เสริมกลไกและประสิทธิภาพในการให้บริการการรักษา ลดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ลดอุปสรรคและต้นทุนที่มองไม่เห็น เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้จะเห็นการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการให้บริการมากขึ้น

สำหรับเทรนด์ธุรกิจด้านสุขภาพในไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของไทยคือ 1.ด้านศัลยกรรมและความงาม 2.ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และ 3. Anti-Aging หรือ เวชศาสตร์ชะลอวัย โดยพบว่า เทรนด์เรื่องสุขภาพและความงามของไทยถือว่ามาแรงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนราว 60-70% โดยได้รับความนิยมทั้งจากคนไทย และชาวต่างชาติ