เทรนด์สุขภาพแรง ปี 2024 "ศัลยกรรม-เอจจิ้ง" บูม

22 ธ.ค. 2566 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2566 | 10:45 น.
712

3 เทรนด์สุขภาพมาแรง ปี 2567 “ศัลยกรรม-ธุรกิจผู้สูงอายุ-เวชศาสตร์ชะลอวัย” ยาหอมรัฐบาลเดินแผน Medical Hub ถูกทาง มุ่งพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืน คาดธุรกิจเฮลท์แคร์เติบโตรับสังคมสูงวัยต่อเนื่องอีก 3-5 ปี นับจากนี้

“สุขภาพ” เป็นเทรนด์ที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ธุรกิจสุขภาพจึงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย Global Wellness Institute (GWI) คาดการณ์ว่าตลาดสุขภาพและความงามทั่วโลกปี 2568 จะมีมูลค่าการเติบโต 5.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพจะเติบโต 8.6% ต่อปีจนถึงปี 2570 ส่งผลให้ตลาดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้รายงานการติดตามเศรษฐกิจด้านสุขภาพระดับโลก Global Wellness Economy Monitor ประจำปี 2566 ของ GWI ยังได้สรุปข้อมูลตลาดด้านสุขภาพรวม 11 กลุ่มไว้ ดังนี้ 1.อสังหาริมทรัพย์ที่ส่งเสริมสุขภาพ 398 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.สุขะภาวะทางจิตที่ดี 180.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 3.สาธารณสุข การป้องกัน และการแพทย์เฉพาะบุคคล 6.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โภชนาการ และการควบคุมน้ำหนัก 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

5.การออกกำลังกาย 9.76 แสนล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ 6.การแพทย์แผนโบราณและการแพทย์เสริม (T&CM) 5.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 7.Personal Care และ Beauty 1.1 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ 8.สุขภาวะในที่ทำงาน 51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 9.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 651 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 10.สปา (Spa) 104.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เทรนด์สุขภาพแรง ปี 2024 \"ศัลยกรรม-เอจจิ้ง\" บูม

และ 11.บ่อน้ำพุร้อน / บ่อน้ำแร่ 46.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องสุขภาพสามารถเชื่อมโยงกับเข้ากับธุรกิจอื่นๆ ได้ในวงกว้าง และเป็นตลาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทุกเจนเนอเรชั่นทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทยที่พบว่า 3 เทรนด์ธุรกิจด้านสุขภาพในปี 2024 ได้แก่ ศัลยกรรมและความงาม, ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และ Anti-Aging

นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่งและผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจการแพทย์ในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว และเริ่มเกิดเทรนด์สุขภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างด้านศัลยกรรมความงาม มีเทคนิคการแพทย์ใหม่ๆ หลายหลายรูปแบบที่เป็นส่วนสำคัญ สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก เจ็บน้อย หายเร็ว ดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจการแพทย์อย่างกว้างขวาง

โดยเทรนด์ธุรกิจด้านสุขภาพ ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของไทยคือ 1.ด้านศัลยกรรมและความงาม 2.ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และ 3. Anti-Aging หรือ เวชศาสตร์ชะลอวัย ที่กำลังเติบโตเป็นอย่างมาก

“ในปี 2567 เทรนด์เรื่องสุขภาพและความงามของไทยถือว่ามาแรงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วนมากถึง 60-70% มูลค่า 2-3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท อัตราการเติบโต 10-20% ทุกปี และมีตัวเลขที่ค่อนข้างชัดเจนว่าชาวต่างชาติที่วางแผนมาประเทศไทยที่มีเป้าหมายทางด้าน Wellness จะเกี่ยวกับความงามเป็นส่วนใหญ่ เพราะประสบการณ์การผ่าตัดของประเทศไทยไม่เป็นรองประเทศอื่น อย่างโรงพยาบาลบางมดก็ชูเทคนิค Modern Facelift และใช้การเติมเต็มด้วยไขมันทำให้หน้าตึงและคุณภาพผิวที่ดีขึ้นได้”

เทรนด์สุขภาพแรง ปี 2024 \"ศัลยกรรม-เอจจิ้ง\" บูม

สำหรับการเป็น Medical Hub รองรับเทรนด์สุขภาพของประเทศไทย ถือว่าดีอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะมีสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล หรือ Joint Commission International (JCI) 61 แห่งทั่วประเทศ มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และบราซิล มีปัจจัยเชิงบวกโดยตรงในอนาคตก็คือ การพัฒนาด้านการแพทย์ ปัจจัยเสริมคือการท่องเที่ยว ค่าครองชีพที่ไม่สูงมากนัก และสิทธิพิเศษทางวีซ่าสำหรับต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาทางการแพทย์

“ทุกรัฐบาลในประเทศไทยมีความเห็นเรื่องการเป็น Medical Hub ที่ค่อนข้างตรงกัน แต่ควรค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การให้คนรู้จากการบอกต่อดีกว่าการโฆษณา เราต้องใช้การแพทย์นำ ทำให้มีความปลอดภัยสูง พัฒนาคน พัฒนาคุณภาพและเครื่องมือให้ดีขึ้น” นพ.ธนัญชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงปี 2562 ประเทศไทยมีตัวเลขการใช้จ่ายเกี่ยวกับธุรกิจด้านสุขภาพประมาณ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี กระทั่งเกิดโควิด-19 มูลค่าก็ลดลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

กระทั่งปี 2566 สถานการณ์โดยรวมเริ่มดีขึ้นและส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้กระเตื้องกลับมาอยู่ที่ประมาณ 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้บริการศูนย์สุขภาพและสนใจธุรกิจการแพทย์ในประเทศไทยมากขึ้น

ด้านนพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วในปี 2576 หรืออีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า 1 ใน 3 ของประชากรจะเป็นประชากรผู้สูงวัย ส่งผลให้ธุรกิจเฮลท์แคร์ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุจะเติบโตราวปีละ 15-30% ต่อเนื่องใน 3-5 ปีนับจากนี้

เทรนด์สุขภาพแรง ปี 2024 \"ศัลยกรรม-เอจจิ้ง\" บูม

ขณะที่ประเทศไทยไม่มีกระบวนการช่วยเหลือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในต่างจังหวัด ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และอยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมถึงกลุ่มสูงอายุที่ยังแอคทีฟ และไม่อยากเป็นภาระของลูกหลานหลาน จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความท้าทายในการให้บริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในธุรกิจเฮลท์แคร์

เพื่อรองรับการขยายตัวของประชาคมกลุ่มผู้สูงอายุ บริษัทเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจธุรกิจดูแลผู้สูงอายุครบวงจร “บ้านลลิสา” นอกเหนือไปจากธุรกิจศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้สูงอายุ PNKG Recovery & Eldercare ซึ่งจะเน้นโฟกัสกลุ่มผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่ต้องรับการฟื้นฟูเป็นหลัก ทำให้ภาพรวมในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุครอบคลุมและเติมเต็มระบบนิเวศด้านเฮลท์แคร์

โดยมีแผนขยายกิจการเพิ่มจากเดิม 20 แห่งซึ่งยังไม่นับรวมการขยายแฟรนไชส์และการแสวงหาพันธมิตรในการร่วมลงทุนเพื่อขยายบริการด้านเฮลท์แคร์เพื่อกระจายไปยังจังหวัดเมืองรอง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่โรงพยาบาลในเครือตั้งอยู่เพื่อครอบคลุมการให้บริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยในระยะยาว พร้อมกับการขับเคลื่อนการขยายฐานผู้รับบริการ เน้นเชื่อมโยงการให้บริการแบบไร้รอยต่อระหว่างโรงพยาบาลและคลินิกในเครือ เชื่อมโยงกับการเข้ารับบริการยังศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้สูงอายุของบ้านลลิสา

ขณะที่แผนระยะยาวบริษัทแสวงหาธุรกิจเฮลท์แคร์ด้านอื่นๆ ที่พร้อมให้การสนับสนุน อย่างเช่น เครื่องมือแพทย์ รวมถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จะเข้ามาเติมเต็มระบบนิเวศเฮลท์แคร์ และเป็นตัวยกระดับคุณภาพการให้บริการด้วยการใช้นวัตกรรมการแพทย์และการควบคุมดูแลต้นทุนให้เหมาะสม เพื่อให้ราคาเข้าถึงได้คนไทยในเมืองรองได้รับบริการและคุณภาพที่ได้มาตรฐานไม่แพ้เมืองหลักควบคู่กัน