EXIM BANK เล็งออก Blue Bond 5 พันล้าน หนุนพอร์ตสีเขียวโต 50%

24 ธ.ค. 2566 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2566 | 11:36 น.

EXIM BANK ประกาศ ต้องเป็น Zero ในมุมของการ “ปล่อย รับ และสร้างอีโคซิสเต็ม” ให้ได้ ตั้งเป้าธนาคารที่มีคาร์บอนเป็นกลาง Carbon Neutrality ปี 2573 เล็งออก Blue Bond 5,000 ล้านบาท ขยายพอร์ตสินเชื่อสีเขียวจาก 37% เพิ่มเป็น 50% ในปี 2571

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศ ไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ยังคงขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการมุ่งเสริมสร้างธุรกิจ ESG อย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงตามความต้องการ เช่น สินเชื่อเพื่อการปรับตัว EXIM Green Start กระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ยกระดับธุรกิจให้พร้อมเข้าสู่มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ร่วมบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกและพลิกโฉมภาคการส่งออกไทยให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนสีเขียวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยจุดยืนที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2573

EXIM BANK เล็งออก Blue Bond 5 พันล้าน หนุนพอร์ตสีเขียวโต 50%

ทั้งนี้ EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินที่เริ่มนำวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของ Thailand Taxonomy มาปรับใช้ในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศ และยังมุ่งมั่นเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือ/นวัตกรรมทางการเงินอย่างครบวงจร (Total Solution) ตอกยํ้าบทบาท Green Development Bank มุ่งยกระดับศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจไทยในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดย EXIM BANK ได้ประกาศต้องเป็น Zero ในมุมของการปล่อยรับและสร้างอีโคซิสเต็มให้กับธุรกิจ SMEs ไทย

สิ่งที่ EXIM BANK ทำแล้วในวันนี้คือ การเป็น Green Deverlopment Bank โดยแหล่งเงินทุน 8,500 ล้านบาท ธนาคารนำมาออกกรีนบอนด์ 5,000 ล้านบาทเมื่อปี 2565 ให้กับลูกค้าองค์กร (Corporate) และยังออกอีก 3,500 ล้านบาท ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งธนาคารมีพอร์ตเอสเอ็มอีทั้งหมดอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท สัดส่วน 10% ตามแผนต้องเป็น Green SMEs

“สิ่งที่อยากเห็น คือ สถาบันการเงินทำผลิตภัณฑ์สีเขียวออกมากันให้มากขึ้น เพื่อช่วยเอสเอ็มอีกว่า 3.2 ล้านราย ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานกว่า 70%”

ทั้งนี้ ในปี 2567 EXIM BANK มีแผนเดินหน้าพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ อีกหลายมิติ อาทิ การออกพันธบัตรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล หรือ บลูบอนด์ (Blue bond) เพื่อระดมทุนนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเล 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมรวมกว่า 40% จากปัจจุบันอยูที่ 37% หรือราว 6.1 หมื่นล้านบาท เป็นในส่วนของ SMEs 14,122 ล้านบาท คิดเป็น 23% จากสินเชื่อของ EXIM BANK ที่ให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียว จากยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด 1.64 แสนล้านบาท โดยธนาคารวางเป้าหมายว่าในปี 2571 จะมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวกว่า 50% เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและธุรกิจไทยไปพร้อมกันบนพื้นฐานของความยั่งยืน

นายรักษ์ กล่าวว่า แม้เป้าหมายที่มีอยู่แม้จะยาก แต่ก็ต้องทำให้ได้ เพราะตอนนี้แหล่งเงินทุนของทุกสถาบันการเงิน กำลังมุ่งไปที่ผู้ประกอบการสะอาด ใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย และที่สำคัญที่สุด คือ ลดการปล่อยคาร์บอน หรือทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะฉะนั้น SMEs ไทยก็ต้องปรับตัวให้ได้ ใน 2 ด้าน คือ ไม่ว่าจะขายของเอง หรือจะขายผ่านคนตัวใหญ่ หรือแม้กระทั่งเดินไปกู้แบงก์ “คุณก็ต้องสะอาด”

“การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ ESG (Environment, Social, และ Governance) ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสและเพิ่มรายได้ให้กับ SMEs ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสในการสร้างความน่าสนใจ ดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาร่วมทุน ตลอดจนเมื่อบริษัทมีชื่อเสียงเติบโต จะมีกลุ่มคนอยากร่วมงาน ทำให้สามารถดึงดูดตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย”

นอกจากการให้แหล่งเงินทุนกับ SMEs เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจแล้ว EXIM BANK ยังให้ความสำคัญกับการให้กับการสร้างความแข็งแกร็ง พร้อมรับมือกับการแข่งขันในตลาด โดยการเติมความรู้ สร้างโอกาส นำลูกค้าและคู่ค้ามาทำการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และยังสนับสนุนด้วยการลดดอกเบี้ย 25 สตางค์ จากเดิมที่เคยจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 6% ในธุรกิจสะอาด และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่เรียกว่า สินเชื่อ Green Start วงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 200 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน หรือ แพงกว่าสินเชื่อ Soft Loan เล็กน้อย

“ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงกันยายน 2566 EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินกว่า 68,000 ล้านบาท ราว 400 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตของพลังงานหมุนเวียนกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนมากกว่า 100 ล้านตัน สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท”