IMF ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวปีนี้ในอัตรา 4.4%  

23 ม.ค. 2567 | 14:57 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2567 | 15:26 น.

IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่อัตรา 2.5% ก่อนที่จะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นในปีนี้ที่ 4.4% จากการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง รวมผลจากมาตรการ Digital Wallet ขณะเงินเฟ้ออ่อนตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ในการติดตามและประเมิน ภาวะเศรษฐกิจไทย ของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือ Article IV Consultation ประจำปี 2566 โดยภาพรวม IMF มีมุมมองที่สอดคล้องกับทางการไทยต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงมี การฟื้นตัว แม้จะชะลอลงบ้างจากการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 2.5 และคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.4 (กรณีรวมผลมาตรการ Digital Wallet) จากการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย  IMF คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 1.7 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

IMF ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวปีนี้ในอัตรา 4.4%  

นอกจากนี้ IMF ยังเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม และควรติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เต็มศักยภาพ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ

ในส่วนของภาคการเงิน IMF สนับสนุนแผนของ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ผ่านการออกเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt)

นอกจากนี้ IMF แนะนำให้ทางการไทยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการลดทอนผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (geo-economic fragmentation) รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) โดยเฉพาะการเพิ่มพูนทักษะแรงงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและปรับกฎเกณฑ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ

ปัจจัยเสี่ยงทั้งจากนอกประเทศและภายในประเทศยังคงมีผลอย่างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศและจากภายนอก

ปัจจัยเสี่ยงทั้งจากนอกประเทศและภายในประเทศ ยังคงมีผลอย่างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดย IMF ระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่

  • การชะลอตัวลงอย่างฉับพลันของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม รวมทั้งเศรษฐกิจจีน
  • การถีบตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
  • ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • และความแบ่งแยกที่ร้าวลึกยิ่งขึ้นทางด้านภูมิเศรษฐศาสตร์

ขณะที่ปัจจัยซ้ำเติมภายในประเทศที่จะทำให้เกิดภาวะความไม่แน่นอนสำหรับเศรษฐกิจไทย ได้แก่

  • การขาดวินัยทางการเงินอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค
  • ภาระหนี้ของภาคเอกชนที่พุ่งสูงขึ้นกลายเป็นปัจจัยคุกคามความมั่นคงทางการเงิน
  • และการที่ภาคเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากจนเกินไป ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความอ่อนไหวได้มากหากเกิดเหตุการณ์ปุบปับฉับพลันกับตัวแปรในต่างประเทศ    

อ่านต้นฉบับเต็ม การติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย (Article IV Consultation ประจำปี 2566) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คลิกที่นี่